วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

'ทอลูกปัด' งานเสริม 'ขายไอเดีย-ราคาดี' รวย

งานประดิษฐ์หลายชิ้นต้องยอมรับว่าเมื่อได้เห็นแล้วก็อดทึ่งไม่ได้ เพราะนอกจากจะสวยงามแล้วยังแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของคนทำเป็นอย่างมาก ต้องใช้เวลาและความอดทน แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ได้รับกลับมาก็เรียกได้ว่า...หายเหนื่อย อย่างเช่นงาน “ทอลูกปัด” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ...อาชีพเสริม

มณี แถววงษ์ เจ้าของงาน “ทอลูกปัด” เล่าว่า เคยประกอบอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวมาก่อน ภายหลังแต่งงานมีครอบครัวก็เลยเปลี่ยนงาน หันมาสนใจงานประดิดประดอย อาศัยเวลาว่างไปอบรมหาความรู้เกี่ยวกับการ ประดิษฐ์งานฝีมือตลอดเวลา จนมาสะดุดใจกับงานทอลูกปัดนี้เข้า โดยได้เห็นรูปแบบมาจากงานทอลูกปัดยุคโบราณ คิดว่าสวยดี จึงหันมาศึกษาขั้นตอนการทำงานทอลูกปัดนี้อย่างจริงจัง โดยนำมาประยุกต์ให้เข้ากับจินตนาการของตนเอง จนเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ขึ้น โดยปัจจุบันทำงานนี้มาได้กว่า 20 ปีแล้ว

“รูปแบบคือการผสมผสานเทคนิคระหว่างงานทอผ้าผนวกกับงานร้อยลูกปัด โดยจะเน้นผลิตเป็นชิ้นงานหรือเป็นภาพ โดยลูกค้าสามารถซื้อแล้วนำไปประดับกับสินค้า อื่น ๆ หรือใช้เป็นของตกแต่ง”

การทอลูกปัดนั้น มณีบอกว่า สามารถดัดแปลงให้เป็นชิ้นงานได้หลากหลาย เช่น สร้อยข้อมือ สร้อยคอ กระเป๋าใส่ของกระจุกกระจิก ฯลฯ ตามแต่จินตนาการของคนทำ โดยสินค้าของมณีและกลุ่มงานทอลูกปัด ราคาขายเริ่มต้นที่ชิ้นละ 900 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับขนาด รูปแบบ และความยากง่ายของสินค้า

สำหรับความแตกต่างระหว่างงานร้อยลูกปัดกับงานทอลูกปัดนั้น เจ้าของงานบอกว่า งานทอลูกปัดจะใช้เวลาและความอดทนในการทำมากกว่า เพราะแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องอาศัยความประณีต เหมือนกับการทอผ้า แต่แลกมาด้วยความสวยงามของลวดลายที่จะละเอียดกว่า และสามารถสร้างสรรค์ลวดลายได้มากมาย

“ลวดลายที่ทำเริ่มจากลายง่าย ๆ เช่น ลายดอกไม้ ที่เป็นลายพื้นฐาน ไปจนถึงลายที่ยากขึ้น อย่างลายไทย ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ซื้อไปเพื่อเป็นของตกแต่งและของประดับ โดยมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ”

ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนไม่มาก อยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 30% ของราคาขาย เพราะใช้วัสดุในการทำไม่มาก แต่ใช้เวลามาก โดยอุปกรณ์ที่จำเป็นในงานทอลูกปัด ได้แก่ เครื่องหรือกี่สำหรับทอลูกปัด, ด้าย-เข็ม สำหรับร้อยลูกปัด, ลูกปัด, กรรไกร-คัตเตอร์ และอุปกรณ์สำหรับตกแต่ง อื่น ๆ

ขั้นตอน การทำ เริ่มจากการขึงเส้นด้าย เพื่อทอเครื่องประดับที่มีความยาวไม่มากเกิน ความยาวของเครื่องทอ เช่น จี้ เข็มกลัด หรือสร้อยข้อมือ โดยขึงเส้นด้ายวนอ้อมหมุดไปมาทั้งสองด้าน จนได้จำนวนเส้นด้ายแนวตั้งครบตามที่ต้องการ โดยหมุนแกนให้หมุดทำมุม 45 องศาทั้ง 2 ด้าน แล้วหมุนตัวล็อกเพื่อยึดให้แน่น

จากนั้นยึดปลายเส้นด้ายด้วยสก๊อตเทปแล้วพันรอบหมุดประมาณ 3 รอบ โดยขึงเส้นด้ายไปยังหมุดอีกด้าน ให้เส้นด้ายผ่านร่องสปริงทั้ง 2 ด้านแล้วพันวกกลับ โดยอ้อมผ่านหมุดและพันพาดไปมาทีละเส้นโดยให้แต่ละเส้นขนานกัน โดยอยู่เรียงกันในร่องสปริง และถูกตรึงโดยหมุดทั้ง 2 ด้าน
เมื่อขึงจนครบจำนวนเส้นที่ต้องการ ให้พันปลายเส้นด้ายรอบหมุด 3 รอบ ยึดปลายด้ายด้วยสก๊อตเทป ปรับเส้นด้ายที่ขึงให้ตึง โดยหมุนตัวล็อกให้แกนไม้บิดลงเล็กน้อย

ต่อมาเป็นขั้นตอนการทอ เริ่มจากการร้อยลูกปัดด้วยเข็มและด้าย โดยใช้สีและจำนวนตามที่แบบกำหนด ในแต่ละแถวดันให้ลูกปัดแต่ละเม็ดแทรกขึ้นมาระหว่างเส้นด้ายที่ขึงในแนวตั้ง แล้วสอดก้นเข็มผ่านรูลูกปัดทั้งแถวเพื่อให้ลูกปัดเรียงเป็นแถวตรง ทอเช่นนี้ไปทีละแถวตามแบบ จนได้ชิ้นงานที่ต้องการ

เจ้าของผลงานบอกว่า สีของเส้นด้ายที่ใช้ขึงแนวตั้งและทอในแนวนอน ควรใช้สีเดียวกัน ซึ่งสีของเส้นด้ายที่ใช้ควรใกล้เคียงกับสีพื้นของลูกปัดในชิ้นงาน และเพื่อความแน่นหนา เมื่อร้อยด้ายย้อนผ่านรูลูกปัดในแถวแรกแล้ว ควรผูกเส้นด้ายแนวนอนกับปลายเส้นด้ายที่เหลือไว้ในตอนแรก

“แม้จากขั้นตอนการทำที่ว่ามาจะฟังดูยาก แต่ถ้าหากได้ทดลองทำจริง ๆ ฝึกฝนจนชำนาญไประยะหนึ่ง ก็จะเริ่มเข้าใจ และจะเริ่มสนุกขึ้น อาชีพนี้ถ้าตั้งใจทำจริง ๆ มีตลาดแน่นอน เพราะลูกค้ามีมากกว่าคนผลิต อีกทั้งเป็นงานฝีมือที่ในตลาดยังมีคู่แข่งขันน้อย” เจ้าของงานกล่าวทิ้งท้าย

สนใจติดต่อ กลุ่มงานทอลูกปัด ติดต่อได้ที่เลขที่ 59/34 หมู่บ้านเสนานิเวศน์ โครงการ 2 แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ โทร. 08-1269-8832 ใครสนใจอยากจะฝึกทำ ก็ลองสอบถามกันโดยตรง.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน / จเร รัตนราตรี : ภาพ
ขอบคุณที่มา http://www.dailynews.co.th

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ของฝากสร้างอาชีพ 'ลูกหยีกวน'


“ลูกหยี” เป็นหนึ่งในของฝากที่ขึ้นชื่อของปักษ์ใต้ เป็นผลไม้พื้นเมืองของภาคใต้ รับประทานได้เมื่อสุก ตอนเป็นผลดิบจะมีสีเขียว เมื่อสุกเปลือกสีดำ เนื้อในสีน้ำตาล รสหวานอมเปรี้ยว ถ้ากินสุก ๆ เพียงแกะเปลือกสีดำออกก็รับประทานได้แล้ว แต่ถ้าอยากเพิ่มความอร่อยก็นำมาปรุงรสแปรรูปในลักษณะต่าง ๆ เช่นทำเป็น “ลูกหยีกวน” ซึ่งทางทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลในเชิงอาชีพมานำเสนอให้พิจารณากัน...

อาจารย์สาลี ชนะสิทธิ์ วัย 60 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพัทลุงวิทยา ในฐานะทายาทผู้สืบทอดธุรกิจ “ลูกหยีแม่หนูดำ” เล่าให้ฟังถึงที่มาของธุรกิจนี้ว่า เจ้าของสูตรที่แท้จริงคือ คุณป้าหนูดำ เยาวนานนท์
ซึ่งเป็นป้าแท้ ๆ ที่ยึดอาชีพนี้มากว่า 50 ปี สมัยเด็ก ๆ อาจารย์จะคอยเป็นลูกมือแกะลูกหยี ทำโน่นทำนี่ให้คุณป้าเสมอ จนทำให้ซึมซับเคล็ดลับและวิธีการแปรรูปลูกหยีเรื่อยมา

“สมัยนั้นทำกันเฉพาะในครัวเรือน วางขายหน้าบ้าน ซึ่งได้รับความนิยมมาก มีลูกค้าขาประจำทั้งในจังหวัดพัทลุงและใกล้เคียงมาอุดหนุน ทำกันเรื่อยมาจนกระทั่งท่านอายุมาก บวกกับร่างกายไม่แข็งแรง แต่อยากให้อาชีพนี้ตกทอดเป็นมรดกของคนในครอบครัว ในฐานะหลานสาวที่คลุกคลีกับการทำลูกหยีมาตลอด เรายินดีที่จะสืบถอดธุรกิจนี้ และเริ่มทำอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนปัจจุบัน”

และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และรักษามาตรฐานผลิตภัณฑ์ อาจารย์สาลียังได้ต่อยอดสินค้า ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพ จนผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) พัฒนาสินค้าจนได้รับเลือกเป็นสินค้าโอทอประดับ 5 ดาว เป็นสินค้าเด่นประจำจังหวัดพัทลุง อีกทั้งยังปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยเหมาะจะซื้อเป็นของฝากอีด้วย
เคล็ดลับความอร่อยของ “ลูกหยีกวน” อาจารย์สาลีบอกว่าอยู่ที่ประสบการณ์การปรุงรส ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งสูตรจะไม่กำหนดเป็นอัตราส่วนตายตัว เพราะลูกหยีสดที่รับซื้อมาแต่ละปีรสชาติจะต่างกัน หวานบ้างเปรี้ยวบ้าง ดังนั้น สูตรการปรุงรสจะเกิดจากความคุ้นเคย การทำทุกครั้งจะต้องชิมและปรุงรสให้ได้ที่

วัตถุดิบ/ส่วนผสม ประกอบด้วย ลูกหยีสด, แบะแซ, น้ำผึ้งรวง, เกลือ, น้ำตาลทราย, พริกขี้หนูป่น และน้ำสะอาด ส่วนอุปกรณ์ก็มีอาทิ เครื่องกะเทาะเปลือกและเม็ดลูกหยี (หรือใช้ถุงผ้าก็ได้), กระทะ, เตาแก๊ส, ตะหลิว, ไม้พาย, ถาด, กระด้ง และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบฉวยเอาได้จากในครัวเรือน

ขั้นตอนการทำ “ลูกหยีกวน” เริ่มจากนำลูกหยีสดไปตากแดดประมาณ 2 วัน แล้วก็กะเทาะเอาเปลือกและเมล็ดออก ถ้าไม่มีเครื่องกะเทาะก็ให้นำลูกหยีที่ตากได้ที่แล้วมาใส่ในถุงผ้าที่เตรียมไว้ แล้วทำการฟาดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เปลือกแตก เสร็จแล้วก็เทลูกหยีใส่กระด้ง ทำการร่อนเอาเปลือกออก ถ้ามีเศษเปลือกติดค้างต้องแกะให้เกลี้ยง ก่อนจะทำการแกะเมล็ดออก แล้วนำลูกหยีไปเกลี่ยในกระด้งให้ทั่ว นำออกตากแดดอีก 2 วัน แล้วนำลูกหยีที่ตากแดดแห้งดีแล้วเก็บใส่ถุงมัดปากให้ดี ตั้งพักไว้

ต่อไปเป็นขั้นตอนการทำน้ำเชื่อม นำน้ำสะอาด น้ำผึ้งรวง แบะแซ น้ำตาลทราย เกลือ และพริกขี้หนูป่น ใส่ลงในกระทะพร้อมกัน ยกขึ้นตั้งไฟปานกลาง เคี่ยวประมาณ 10 นาที จนเป็นน้ำเชื่อมเหนียวเข้มข้น

เมื่อเคี่ยวน้ำเชื่อมได้ที่ดีแล้ว ก็นำลูกหยีที่เตรียมไว้ใส่ลงในกระทะน้ำเชื่อม ทำการคนคลุกเคล้าให้เข้ากัน ยกลง พอเริ่มอุ่น ๆ ก็นำไปปั้นเป็นเม็ดกลม ๆ พอดีคำ แล้วนำไปตากแดดอีกประมาณ 20 นาที จากนั้นห่อด้วยกระดาษ และใส่ลงบรรจุภัณฑ์ พร้อมจำหน่าย โดยสามารถเก็บไว้ได้นานถึงประมาณ 3 เดือน

สินค้าของอาจารย์สาลีมีให้เลือก 3 ประเภทคือ ลูกหยีกวน ลูกหยีสด ลูกหยีทรงเครื่อง ราคาขายแตกต่างกันไปตามขนาด และบรรจุภัณฑ์ แต่เฉลี่ยอยู่ที่ขีดละ 40 บาท มีต้นทุนประมาณ 70%

ร้านลูกหยีแม่หนูดำ อยู่ที่เลขที่ 52/2 ถ.ประชาบาล ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง, ที่สนามบินหาดใหญ่ และโซนโอทอป ห้างเทสโก้โลตัส สาขาพัทลุง ส่วนในกรุงเทพฯมีขายที่ร้านโครงการหลวง ใกล้โรงพยาบาลศิริราช และมีบริการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ทั่วประเทศด้วย ใครต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ต้องการสั่งซื้อ ต้องการสั่งไปจำหน่ายต่อ ติดต่อที่ โทร.0-7462-6414 หรือ 08-6627-0867
เชาวลี ชุมขำ :รายงาน
ที่มา เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th