วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

คนจับแมลงขาย อาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยว


แสงไฟสีแสดมองเห็นไกลลิบอยู่กลางทุ่งนายามดึก โดยมีถุงพลาสติกสีขาวผูกติดเข้ากับลำไม้ไผ่ขนาดเล็ก ซึ่งกางคลุมเหนือหลอดนีออนอีกชั้น ขณะที่พื้นด้านล่างมีกะละมังใส่น้ำวางเรียงรายล้อมรอบเป็นวงกลม เพื่อเป็นภาชนะสำหรับดักแมลง ที่ทั้งลุงต้อยและปอนด์สองพ่อลูกยึดเป็นอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

ทุกปีช่วงฤดูหนาวมาเยือนถือเป็นสัญญาณบอกว่า ถึงเวลาออกดักแมลงตามท้องทุ่ง ซึ่งจะสว่างไสวด้วยแสงไฟสีแสดล่อแมลงให้มาติดกับ ส่วนใหญ่แมลงที่ดักจับได้มีทั้ง แมงเหนี่ยง แมงดา จิ้งหรีด แมงกระชอน และแมงตับเต่า แมลงเม่า

หลายปีมานี้ลุงต้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000-4,000 บาท จากการที่ออกดักแมลงกับลูกชาย วันไหนได้เยอะก็จะแบ่งขายสด และคัดแยกนำ ไปคั่ว ทอด เตรียมไปขายตามงานวัดย่านจังหวัดบุรีรัมย์เรียกว่าสามารถมีรายได้จุนเจือครอบครัว ถึงสองทาง

ลุงต้อยเล่าว่า วันนี้นิยมกินแมลงเป็นอาหารกันมาก น่าจะมาจากวัฒนธรรมการบริโภคและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาตามสภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าราคาแมลงจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ตั๊กแตนปาทังกา แต่ก่อนกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ตอนนี้กิโลละ 400 แล้วยังไม่พอกับความต้องการของตลาด

“แมลงมีตลาดค่อนข้างกว้างเพราะเป็นอาหารที่แปลก จึงมีคนอยากทดลองกิน โอกาสในการทำตลาดจึงสูง คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจมาตลาดนัดเพื่อซื้อแมลง แต่เป็นเพราะเขาเดินผ่านมาและเห็นว่ามันแปลกก็เลยลองกิน ในเรื่องคู่แข่งมีน้อยมากเพราะส่วนใหญ่จะเป็นรถเข็นที่ขายแมลงทอดตามงาน วัดยังไม่มีระบบในการทำธุรกิจอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม การดักจับแมลง ถ้าไม่รู้ทิศทางลมหรือมีความชำนาญก็จะทำได้ลำบากเพราะแมลงค่อนข้างบินกระจายในที่นาผืนหนึ่ง อาจอยู่กระจัดกระจายตามทิศทางลมและบริเวณที่ชื้นแฉะใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะคืนที่อากาศอบอ้าวแมลงจะลงเยอะ แต่ถ้าคืนไหนมีอากาศเย็นแมลงจะมีน้อยมาก นอกจากนี้แสงของนีออนจะมีผลต่อการล่อจับแมลงแต่ละชนิดด้วย ตัวอย่างเช่น แมงดาจะชอบแสงสีม่วงอ่อน ทำให้แมงดาเข้ามาเล่นไฟและติดกับดักได้โดยง่าย

อาชีพนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวนี้มีคนทำกันเยอะอยู่ที่ความชำนาญ แต่ถ้ามีฝีมือและสูตรการทอดแมลงให้มีรสชาติถูกปาก ก็จะช่วยให้มีรายได้มากขึ้นได้ไม่ยากนัก

โดย : เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น