ปกติ ผลไม้ภาคตะวันออกอยู่ในภาวะล้นตลาดทุกปี ส่วนหนึ่งที่ชาวสวน นักธุรกิจส่งออก พ่อค้า ทำกันมากคือ แช่แข็งแล้วส่งออก แต่สำหรับคุณมรุตแล้ว เขาว่า แค่นั้นคงไม่พอ
งานแสดงอาหารใหญ่ประจำปี "Thaifex-World of food ASIA 2009" ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก ร่วมกับหอการค้าไทย และโคโลญ เมสเซส ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี มีบริษัท ผู้ประกอบการ ด้านอุตสาหกรรมอาหารเข้าร่วมมากมาย
บู๊ธแสดงสินค้าบู๊ธหนึ่งที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมากจากผู้เข้าร่วมชมงาน ได้แก่ บู๊ธที่วางแสดงสินค้าหน้าตาคล้ายไข่เป็ด ไข่ไก่ แถมยังอยู่ในแผงพลาสติคที่ใส่ไข่เป็ด ไข่ไก่ซะด้วย แต่เมื่อเหลือบมองเข้าไปภายในบู๊ธ กลับมีผลไม้จากภาคตะวันออก ทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน สละ นำมาจัดแสดงด้วย
ถามเจ้าหน้าที่ประจำบู๊ธ ได้ความว่า นี่ไม่ใช่ไข่เป็ด ไข่ไก่ แต่เป็นไอศกรีมทุเรียน มะพร้าว และมะม่วง อ้าว!...เป็นงั้นไป
เมื่อได้ความดังนั้น จึงมีคำถามตามมาอีกมากมาย หนึ่งในคำถามนั้นคือ แล้วจะกินอย่างไร ต้องผ่าออกมาหรือเปล่า มีไอศกรีมอยู่ข้างในใช่หรือไม่
เจ้าหน้าที่จึงตอบคำถามพร้อมสาธิตให้ดูว่า เพียงแต่ใช้ไม้จิ้มไปที่ไข่ เยื่อพลาสติคบางใสและลอกออกมา กลายเป็นไอศกรีมผลไม้ล้วนๆ และไอศกรีมที่ว่านี้เป็นไอศกรีมผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีส่วนผสมอื่นใด มีแต่เนื้อผลไม้เท่านั้น
เจ้าของไอเดีย และเจ้าของธุรกิจ คุณมรุต ชโลธร เผยว่า เขาและเครือญาติมีสวนผลไม้อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน สละ ปกติขายทั้งในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ รวมทั้งผลิตผลไม้แปรรูปด้วย
"การแปรรูปก็ทำแบบผลไม้แปรรูปทั่วไป บางส่วนก็แช่แข็ง เพราะในแต่ละปีมีผลไม้ออกมามาก ที่นี้ เราก็มองว่าเราจะครีเอท แวลู่ หรือจะสร้างสรรค์ให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะปัจจุบันนี้ เพียงแต่แอดแวลู่อย่างเดียวไม่พอแล้ว เราก็เริ่มมองไปที่ตัวสินค้าก่อน คำว่า ไอศกรีม เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับ และเป็นของหวานที่ทุกคนชื่นชอบ ขณะเดียวกัน ก็มีด้านลบต่อสุขภาพ คือน้ำตาลมาก และมีส่วนผสมหลายอย่างที่เป็นสารสังเคราะห์ สรุปก็คือไม่ใช่สินค้าในกลุ่มเพื่อสุขภาพแน่นอน เราก็เลยมองว่า จะทำอย่างไรให้ผลไม้มาอยู่ในรูปของไอศกรีมที่เน้นความเป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์"
และนี่คือที่มาของไอศกรีมผลไม้ ที่ทางผู้ประกอบการเน้นว่า เป็นธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยในช่วงต้น ทำออกมา 3 รสชาติ ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง และมะพร้าวอ่อน
ผลไม้ล้นตลาดทุกปี
แค่แช่แข็ง ส่งออก คงไม่พอ
"เราพัฒนาทั้ง 3 ตัวนี้มา ก็เป็นเนื้อผลไม้ล้วนๆ นั่นหมายความว่า เราได้ปฏิวัติวงการไอศกรีมให้เป็นธรรมชาติล้วน"
คุณมรุต บอกอีกว่า ปกติ ผลไม้ภาคตะวันออกอยู่ในภาวะล้นตลาดทุกปี ส่วนหนึ่งที่ชาวสวน นักธุรกิจส่งออก พ่อค้า ทำกันมากคือ แช่แข็งแล้วส่งออก แต่สำหรับคุณมรุตแล้ว เขาว่า แค่นั้นคงไม่พอ
"เราอยู่เมืองจันท์ เราก็อยากจะช่วย แต่คงต้องหาอะไรที่ใหม่ที่สุด สิ่งที่เราได้แล้วคือ ตัวเนื้อไอศกรีมที่ใหม่ เป็นผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าจะมาใส่แพ็กเกจจิ้งเก่าๆ มันก็ไม่เป็นจุดขาย ถ้าคนที่จะทานไอศกรีม จะนึกแค่ อยู่ในโคน ถ้วย หรือตัดกิน หรือทำซอร์ฟเสิร์ฟ เรากลับมองว่าเอ๊ะ ทำอย่างอื่นได้มั้ย จากนั้นก็สร้างกิมมิกว่า ถ้ามันเป็นไข่ล่ะ จะเป็นอย่างไร"
ดังนั้น ไอศกรีมผลไม้ รสทุเรียน มะม่วง และมะพร้าวอ่อน ในรูปไข่เป็ด ไข่ไก่ จึงออกมาด้วยประการฉะนี้ (ถ้าเป็นรสมะม่วงมีสีเหลือง จะคล้ายไข่ไก่มาก)
คุณมรุต เล่าอีกว่า " สำหรับผู้บริโภคเองเดินผ่านมา ก็จะถามว่า อะไรน่ะ ไข่หรือเปล่า บางคนนึกไปถึงไข่ข้าวหรือไข่ที่ผ่านการผสมแล้ว บางคนเดินผ่านไปแล้ววกกลับมา เรียกเพื่อนมาดูด้วยว่าเป็นอะไร ยิ่งถ้าเราบอกว่าเป็นทุเรียน เป็นไอศกรีมทุเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์ เค้าก็จะบอกว่า เอ้ย! จริงเหรอ...ไม่น่าเชื่อ...นี่คือกิมมิกทางการตลาดที่เราคิดขึ้นมา นั่นคือ เราจะสร้างประสบการณ์ใหม่ เป็นลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร ดังที่เราให้สโลแกนไว้ว่า More than just ice-cream With a unique eating experience"
เมื่อจะรับประทานไอศกรีมที่ว่านี้ เพียงแต่เอาไม้จิ้มไปที่ตัวไข่ เยื่อพลาสติคใสก็จะหลุดออกโดยง่าย เจ้าหน้าที่ประจำบู๊ธ อธิบายว่า เป็นอีลาสติก รับเบอร์ (หรือยางที่มีความยืดหยุ่น) เมื่อพลาสติคใสหลุดออกไปแล้ว สิ่งที่ได้คือ ไอศกรีมผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์
"อีลาสติก รับเบอร์นี้ เป็นฟู้ดเกรด คือรับประกันว่าห่อหุ้มอาหารได้ นี่เป็นจุดหนึ่งที่ผู้บริโภคกังวลว่าจะมีอันตรายมั้ย แต่เราส่งตรวจเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ระดับมาตรฐานสากลว่าปลอดภัย" คุณมรุต เผย และบอกอีกว่า
"โปรเจ็คต์นี้เริ่มมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ใช้เวลาปีกว่าๆ ในการวิจัยและพัฒนา ขณะนี้ ตอนนี้อยู่ในช่วงทำกลยุทธ์ทางการตลาด เรากำลังหาลู่ทางเพื่อส่งออก และดูว่าในประเทศเราจะกระจายสินค้าอย่างไร"
แล้วเล็งไปที่ไหนบ้าง นั่นเป็นคำถามที่ถามออกไป ผู้ประกอบการรายนี้ ตอบว่า "จริงๆ ตอนนี้มีหลายทางเลือก เรายังไม่ได้สรุป ที่มาออกงาน Thaifex ครั้งนี้ แค่ต้องการดูผลตอบรับ ก็ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับดีมาก เรามีบู๊ธเล็กๆ แต่ทุกคนที่เดินผ่านไป ก็จะเดินย้อนกลับมาด้วยความสะดุดตา สะดุดใจ"
ทำทุเรียนให้กลิ่นอ่อนลง
จับกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น
สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างชาตินั้น เขาว่า มีผู้ซื้อชาวต่างชาติติดต่อเข้ามาเยอะมาก จากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ชื่นชอบทุเรียนเป็นหลัก เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ ส่วนชาติตะวันตก จะมีภาพติดลบกับทุเรียนเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จาก ป้ายห้ามนำทุเรียนเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ทั้งรถเมล์ รถไฟ สนามบิน โรงแรม ฯลฯ เรียกว่า ในส่วนที่เป็นห้องปรับอากาศทั้งหมด เป็นส่วนต้องห้ามของผลไม้นาม "ทุเรียน"
"พอจบโปรเจ็คต์นี้ เรากำลังจะมีโปรเจ็คต์หน้าคือ Soft aroma durian คือเราจะพัฒนาว่า จะทำให้กลิ่นทุเรียน อ่อนลงได้อย่างไร เพื่อต้องการเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ชอบในกลิ่น แต่อยากลองในรสชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรากำลังอยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนา"
ทุเรียนย่อมมีกลิ่นแรงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น การพัฒนาในครั้งนี้จะเป็นการฝืนธรรมชาติหรือไม่นั้น คุณมรุตว่า
"จริงๆ แล้ว ความต้องการนี้มาจากผู้บริโภค ถามว่าจะฝืนธรรมชาติมั้ย ผมขอเรียนอย่างนี้ว่า ปรากฏการณ์ของคนที่กินทุเรียน เรียกว่า ทุเรียนเอฟเฟ็กต์ คือจะรักหรือจะเกลียดทุเรียนมาจากการได้กลิ่นในครั้งแรก หมายความว่า คนที่ชอบ เมื่อทานปุ๊บแล้วชอบเลย อร่อย ส่วนที่ไม่ชอบคือ กินแล้วก็ไม่ชอบ ถึงขั้นเกลียด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทางด้านการตลาดนี่ชัดเจน ดังนั้น ทุเรียนจึงเป็นสินค้าตัวแรกที่เราเลือกขึ้นมาเป็นจุดขาย นั่นหมายความว่า คนที่ เป็นทุเรียนเลิฟเวอร์ หรือหลงรักรสชาติทุเรียน นี่จะกระโดดเข้าใส่เลย อย่างคนจีนที่ชอบมาก บางคนมาซื้อลูกเดียวไม่พอ"
"ในทางกลับกัน เรามองว่า เราพัฒนาทุเรียนเป็นตัวแรก ด้วยความที่ได้สินค้าแปลกใหม่ ก็โอเค แต่พอไปเจอเรื่องกลิ่น ก็เป็นปัญหา จึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วยในส่วนที่ช่วยได้ อย่างที่ ทำให้เป็นซอร์ฟอโรมา คำว่า ซอร์ฟอโรมา ไม่ได้หมายความว่า ทำให้ทุเรียนไม่มีกลิ่น แต่ทำให้กลิ่นเบาลง อ่อนลง"
ปกติคนที่ชอบรับประทานทุเรียน จะมี 3 พวกใหญ่ๆ คือชอบทุเรียนห่ามๆ กรอบ กลุ่มนี้จะไม่ได้รสหวาน ไม่ได้กลิ่น พวกที่สอง คือพวกที่ชอบระดับกลางๆ จะได้ครบทั้งรสชาติและกลิ่น ส่วนพวกที่สาม คือชอบแบบสุก จะได้ทุเรียนรสหวานจัด กลิ่นฉุน ในระดับที่เรียกทุเรียนผลนั้นว่า "เป็นปลาร้าแล้วนะจ๊ะ"
"จะมีอีกพวกหนึ่งคือ อยากจะลิ้มรสความหวาน แต่สู้กลิ่นไม่ไหว เราอยากให้เค้าได้ลิ้มรสสักนิดหนึ่ง ทุเรียนนี่เป็นคิงออฟฟรุตนะครับ ถ้าเป็นเราไปเจอราชาแห่งผลไม้ที่ประเทศไหน เราก็อยากลอง แต่ถ้าต้องบีบจมูกกิน มันก็ไม่ควรเป็นอย่างนั้น"
การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ คุณมรุต เผยว่า ได้ร่วมพัฒนาเครื่องต้นแบบ กับบริษัทเล็กๆ จากประเทศญี่ปุ่นบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีเหมือนกัน
ดูเหมือนว่า ในส่วนตัวผู้ประกอบการเอง ออกจะได้เปรียบในเรื่องการประสานเทคโนโลยีกับประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จากประเทศญี่ปุ่น
"ผมไม่ได้เรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร แต่มาทำตรงนี้ บางคนถามว่า ไม่ได้เรียนมา แล้วทำได้ด้วยเหรอ ผมตอบว่า ที่ผมทำได้เพราะไม่ได้เรียนมา เพราะผมคิดว่า การที่ผมเรียนมาทางวิศวกรรม ไม่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร ทำให้ผมกล้าคิดนอกกรอบ คือถ้าจบทางด้านอาหารมาโดยตรง อาจจะมองแค่ในกรอบ การมองนอกกรอบ เราอาจจะต้องถอยออกมาแล้วมองเข้าไป ฉะนั้น ผมคือคนนอก ไม่ได้อยู่ในวงการ เป็นแค่ลูกชาวสวนผลไม้ที่ต้องการกลับไปพัฒนาให้กับชาวสวนเมืองจันท์"
สำหรับไอศกรีมผลไม้ ทั้ง 3 รสชาติในรูปไข่ คุณมรุตวางราคาขายส่งหน้าโรงงานไว้ที่ ลูกละ 15 บาท แต่ถ้าขายปลีกทั่วไป น่าจะอยู่ที่ลูกละ 30-35 บาท แล้วแต่ทำเล
"ตัวไอศกรีมผลไม้รูปไข่ ใช้เวลาวิจัยและพัฒนา ปีเศษๆ ตอนนี้อยู่ในช่วงเช็คผลตอบรับ ซึ่งก็มีผู้ประกอบการหลายเจ้าที่ต้องการเป็นตัวแทนจำหน่ายซึ่งเราอยู่ในระหว่างการพิจารณา"
และนี่เป็นอีกหนึ่งการให้ไอเดีย สร้างคุณค่าให้กับสินค้า ถ้าบอกว่าเป็นไอศกรีมรสทุเรียน คงจะดูเป็นสินค้าพื้นๆ ธรรมดาๆ ที่ไม่น่าตื่นเต้นอะไร แม้กระทั่งจะบอกว่า เป็นผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็เชื่อว่ามีผู้ประกอบการรายอื่นทำออกมาบ้างแล้ว แต่นี่เป็นไอศกรีมผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในบรรจุภัณฑ์รูปทรงไข่ แถมยังวางไข่ ในรังไข่พลาสติคที่ดูยังไงก็เป็นไข่ แต่ไม่ใช่ไข่
การสร้างความสนใจ ความประทับใจเมื่อแรกเห็นนี้เอง ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมามอง หันมาพิจารณา กระทั่งต้องการชิม และนำไปสู่การค้าขายต่อไป
มีสินค้าธรรมดาๆ พื้นๆ อีกมากมาย ที่รอให้ผู้สร้างสรรค์งานเข้าไปพัฒนา เข้าไปจับมาแต่งตัวใหม่ เพื่อให้ต่อสู้ในทางการตลาดได้มากขึ้น และไม่แน่ว่า ผู้สร้างสรรค์งานรายต่อไป อาจเป็นคุณ!!!
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท อินโนเวทีฟ ฟู้ด แพ็คเกจจิ้ง จำกัด เลขที่ 65 ถนนเพชรเกษม วัดท่าพระ บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600 โทร. (02) 467-4214-5
การลงทุนขายไอศกรีมผลไม้รูปไข่
1. รูปแบบซื้อมา ขายไป ราคาขายส่งหน้าโรงงาน ชิ้นละ 15 บาท สามารถนำไปขายได้ราคาชิ้นละ 30-35 บาท แล้วแต่ทำเล
2. นำไปขายเสริมในร้านอาหาร ซึ่งอาจจะมีตู้แช่อยู่แล้ว
3. ซื้อตู้แช่เพื่อขายไอศกรีม ราคาตู้แช่ ประมาณ 20,000 บาท
4. ลงทุนกับทางบริษัท 20,000 บาท สิ่งที่จะได้คือ ตู้แช่ และคีออส โดยใช้พื้นที่ขายประมาณ 2 ตารางเมตร (ทางคุณมรุตให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้ว ตัวเลขการลงทุนลักษณะนี้ประมาณ 30,000 บาท แต่ทางบริษัทต้องการช่วยผู้ประกอบการ 10,000 บาท จึงตั้งตัวเลขการลงทุนไว้ที่ 20,000 บาท)
5. สั่งซื้อสินค้ากับทางบริษัท ตั้งแต่ 1,000-1,500 บาท ทางบริษัทจัดส่งให้ฟรี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
6. ทำเลที่น่าสนใจมากที่สุด ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นประจำ ได้แก่ พัทยา สมุย ภูเก็ต กระบี่ ตรัง เชียงใหม่ หาดใหญ่ ฯลฯ และทำเลที่น่าสนใจรองลงไปได้แก่ ใกล้สถาบันการศึกษา รวมทั้งแหล่งชุมชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น