ปีติภัทร ปัญญาสุขศิริ เปิดร้านกิ๊ฟท์ช็อปตามตลาดนัดต่าง ๆ มานานแล้ว ซึ่งเจ้าตัวก็บอกว่าเป็นอาชีพอิสระ สนุก และรายได้ดี ซึ่งการขายของประเภทนี้ตามตลาดนัดเบื้องต้นลงทุนประมาณ 3,000 บาทก็อยู่ ส่วนทุนหมุนเวียนต่อวันก็ประมาณ 1,000-1,500 บาท หรือมากหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับทำเลขาย ลงทุนซื้อของที่จะขาย เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล ต่างหู ตัวหนีบ กิ๊ฟท์ติดผม ฯลฯ
โดยแหล่งขายส่งราคาถูกอยู่ในกรุงเทพฯ คือที่ “ตลาดสำเพ็ง” ซึ่งเป็นแหล่งสินค้าหลากหลายตามแฟชั่น ราคาขายส่ง
การ ขายตามตลาดนัดก็ต้องมีอุปกรณ์ที่สะดวกทั้งในการขน การใช้ และการเก็บ เช่น ขาตั้งโต๊ะ โต๊ะ ร่ม แผงแขวนต่างหู ตะขอแขวนสร้อยต่างๆ ซึ่งก็เป็นอุปกรณ์ที่ราคาไม่แพงมาก ลงทุนก็ประมาณ 2,000 บาท
ตลาดนัดที่เป็นแหล่งขายนั้น ถ้าเป็นย่านสำนักงานก็แบ่งออกได้เป็น 3 แบบคือ ตลาดนัดช่วงเช้า ก่อนเวลาทำงานของพนักงาน, ตลาดนัดช่วงกลางวัน ช่วงเวลาทานอาหาร และตลาดนัดช่วงเย็น หลังเวลาเลิกงาน
คิด จะยึดอาชีพแบบนี้ก่อนอื่นก็จะต้องสำรวจก่อนว่ามีตลาดนัดที่ไหนบ้าง แต่ละที่มีช่วงเวลาขายอย่างไร ค่าเช่าที่เท่าไหร่ ต้องจับสลากล็อกขายด้วยหรือเปล่า ฯลฯ เมื่อได้ข้อมูลตรงนี้ และพร้อมแล้ว ก็ลุยได้
“ในวันหนึ่งๆ ควรจะต้องขายให้ได้ประมาณ 2 แห่งเป็นอย่างต่ำ และอย่าขายที่เดียวกันทุกวัน เพราะลูกค้าจะไม่ซื้อ เพราะคิดว่าพรุ่งนี้ก็มาขายอีก ซึ่งทำเลที่ตั้งของตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะจัดหน้าร้านแบบไหน ตั้งราคาเท่าไร คุยกับลูกค้ายังไง”
เมื่อทราบแล้วว่าจะขายของที่ไหน ก็มาดูเรื่องการเลือกซื้อสินค้ามาลงร้าน อาจจะเลือกให้แตกต่างจากเจ้าอื่น เลือกซื้อสินค้าที่ตนเองชอบเป็นเกณฑ์ เลือกที่แบบ-ลวดลายที่คิดว่าสวย หรือสวยกว่าร้านอื่น แต่ละอย่างอาจจะวางขายเพียง 3-5 ชิ้นพอ เพื่อไม่ให้สินค้าดูเกร่อ หรือดูมากจนไม่มีราคา และการจัดหน้าร้านก็ควรจะจัดให้มี “ศิลปะ” ด้วย จัดให้หน้าร้านน่ามอง น่าแวะดูของ เรียงของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม อยากจะขายอะไรมากเป็นพิเศษก็ควรจะนำเสนอแบบนั้นไป
และช่วงนี้ “ดอกไม้” อย่างทานตะวัน หรือลีลาวดีมาแรงมาก ก็ไปรับดอกไม้มายกโหล ซึ่งจะได้ในราคาถูก และนำมาติดกับที่คาดผม ยางรัดผม กิ๊ฟท์ติดผม ตัวหนีบผม เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของเรา
สำหรับการตั้งราคา นั้น ให้ตั้งราคาของบวกเข้าไปอีกมากกว่า 50% ของราคาทุนได้เลย เพราะกำไรที่ได้จะต้องหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีก อาทิ ค่ารถ ค่ากิน ค่าเช่าที่ ซึ่งต้องคำนวณให้เหลือคุ้มเหนื่อย อย่างไรก็ตาม นอกจากการตั้งราคาที่มากกว่าครึ่งของทุนเป็นเกณฑ์แล้ว ก็จำเป็นต้องดูตลาดด้วย หากทำเลแถบนั้นเป็นย่านหรูก็ตั้งราคาได้ดีหน่อย แต่ก็จะต้องมีสินค้าที่ราคาหลากหลาย เพื่อที่จะให้ลูกค้าได้เปรียบเทียบคุณภาพได้
ส่วนถ้าเป็นย่านที่ หรูน้อยหน่อยก็ตั้งราคาให้ต่ำลงมาหน่อย นอกเหนือไปจากนี้ การทำอาชีพนี้ต้องหมั่นไปสำรวจตลาดนัดอื่น-เจ้าอื่นด้วยว่าเขาขายในราคาเท่า ไหร่ หรืออาจจะถามจากเจ้าของร้านที่เราไปรับสินค้ามา ว่าสินค้าแบบนี้ถ้านำไปขายปลีกแล้วควรจะขายเท่าไหร่ เพื่อจะได้เป็นเกณฑ์ในการตั้งราคาได้เหมาะสม
“การ ลงทุนทำกิ๊ฟท์ช็อปตามตลาดนัด ก็ทำได้ทั้งแบบลงทุนมากนับหมื่น เพื่อที่จะมีสินค้าทุกอย่าง ขายเป็นจำนวนมาก แต่ต้องมั่นใจว่าทำเลดี และมีลูกค้ามากพอ หรืออาจจะลงทุนแค่ไม่มาก มีของพอประมาณ แต่สามารถเปลี่ยนของได้บ่อย ๆ เพื่อความหลากหลาย”
ว่างจากการขาย ก็ควรแวะไปสำรวจแหล่งค้าส่งสินค้าบ่อย ๆ ด้วย เพื่อเป็นการอัพเดต ดูว่าอะไรอิน อะไรเอาท์ หรือช่วงนี้สินค้าอะไรขายดี อย่าง สำเพ็งที่เป็นศูนย์รวม-แหล่งแฟชั่นอีกที่หนึ่งก็ไปดูเทรนด์ได้ ซึ่งที่มาของแฟชั่นสำเพ็งก็คือนิตยสารจากต่างประเทศ และดารานางแบบที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ จากข้อมูลต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้น ถือเป็นหลักการเบื้องต้นคร่าว ๆ ในการค้าขายตามตลาดนัด
ใน ทางปฏิบัติก็ยังต้องขึ้นอยู่กับว่าไหวพริบปฏิภาณ หรือวิญญาณพ่อค้าแม่ขาย และที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเรื่องการสร้างความเป็นมิตรระหว่างผู้ค้าด้วยกัน เองในตลาด ก็จะได้อะไรต่อมิอะไรที่มีประโยชน์ต่อการค้าขายของเราไม่น้อย
ให้ข้อมูลต่าง ๆ จากประสบการณ์แล้ว ปีติภัทร ผู้ชำนาญการเรื่อง “กิ๊ฟท์ช็อป” ยังย้ำด้วยว่า “สิ่ง ที่สำคัญของการค้าขายตามตลาดนัดให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นร้านกิ๊ฟท์ชอป หรือร้านขายอะไรก็ตาม จะต้องเป็นคนขยัน เอาใจลูกค้า และต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วย” “ตลาดนัด” อย่าได้คิดว่ากระจอก ถือว่าเป็น “แหล่งทำเงิน” ทีดีเชียวแหละ !!
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล :รายงาน / จเร รัตนราตรี :ภาพ
ขอขอบคุณข้อมูล จาก
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น