อาจารย์สาลี ชนะสิทธิ์ วัย 60 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพัทลุงวิทยา ในฐานะทายาทผู้สืบทอดธุรกิจ “ลูกหยีแม่หนูดำ” เล่าให้ฟังถึงที่มาของธุรกิจนี้ว่า เจ้าของสูตรที่แท้จริงคือ คุณป้าหนูดำ เยาวนานนท์
ซึ่งเป็นป้าแท้ ๆ ที่ยึดอาชีพนี้มากว่า 50 ปี สมัยเด็ก ๆ อาจารย์จะคอยเป็นลูกมือแกะลูกหยี ทำโน่นทำนี่ให้คุณป้าเสมอ จนทำให้ซึมซับเคล็ดลับและวิธีการแปรรูปลูกหยีเรื่อยมา
“สมัยนั้นทำกันเฉพาะในครัวเรือน วางขายหน้าบ้าน ซึ่งได้รับความนิยมมาก มีลูกค้าขาประจำทั้งในจังหวัดพัทลุงและใกล้เคียงมาอุดหนุน ทำกันเรื่อยมาจนกระทั่งท่านอายุมาก บวกกับร่างกายไม่แข็งแรง แต่อยากให้อาชีพนี้ตกทอดเป็นมรดกของคนในครอบครัว ในฐานะหลานสาวที่คลุกคลีกับการทำลูกหยีมาตลอด เรายินดีที่จะสืบถอดธุรกิจนี้ และเริ่มทำอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนปัจจุบัน”
และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และรักษามาตรฐานผลิตภัณฑ์ อาจารย์สาลียังได้ต่อยอดสินค้า ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพ จนผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) พัฒนาสินค้าจนได้รับเลือกเป็นสินค้าโอทอประดับ 5 ดาว เป็นสินค้าเด่นประจำจังหวัดพัทลุง อีกทั้งยังปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยเหมาะจะซื้อเป็นของฝากอีด้วย
เคล็ดลับความอร่อยของ “ลูกหยีกวน” อาจารย์สาลีบอกว่าอยู่ที่ประสบการณ์การปรุงรส ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งสูตรจะไม่กำหนดเป็นอัตราส่วนตายตัว เพราะลูกหยีสดที่รับซื้อมาแต่ละปีรสชาติจะต่างกัน หวานบ้างเปรี้ยวบ้าง ดังนั้น สูตรการปรุงรสจะเกิดจากความคุ้นเคย การทำทุกครั้งจะต้องชิมและปรุงรสให้ได้ที่
วัตถุดิบ/ส่วนผสม ประกอบด้วย ลูกหยีสด, แบะแซ, น้ำผึ้งรวง, เกลือ, น้ำตาลทราย, พริกขี้หนูป่น และน้ำสะอาด ส่วนอุปกรณ์ก็มีอาทิ เครื่องกะเทาะเปลือกและเม็ดลูกหยี (หรือใช้ถุงผ้าก็ได้), กระทะ, เตาแก๊ส, ตะหลิว, ไม้พาย, ถาด, กระด้ง และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบฉวยเอาได้จากในครัวเรือน
ขั้นตอนการทำ “ลูกหยีกวน” เริ่มจากนำลูกหยีสดไปตากแดดประมาณ 2 วัน แล้วก็กะเทาะเอาเปลือกและเมล็ดออก ถ้าไม่มีเครื่องกะเทาะก็ให้นำลูกหยีที่ตากได้ที่แล้วมาใส่ในถุงผ้าที่เตรียมไว้ แล้วทำการฟาดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เปลือกแตก เสร็จแล้วก็เทลูกหยีใส่กระด้ง ทำการร่อนเอาเปลือกออก ถ้ามีเศษเปลือกติดค้างต้องแกะให้เกลี้ยง ก่อนจะทำการแกะเมล็ดออก แล้วนำลูกหยีไปเกลี่ยในกระด้งให้ทั่ว นำออกตากแดดอีก 2 วัน แล้วนำลูกหยีที่ตากแดดแห้งดีแล้วเก็บใส่ถุงมัดปากให้ดี ตั้งพักไว้
ต่อไปเป็นขั้นตอนการทำน้ำเชื่อม นำน้ำสะอาด น้ำผึ้งรวง แบะแซ น้ำตาลทราย เกลือ และพริกขี้หนูป่น ใส่ลงในกระทะพร้อมกัน ยกขึ้นตั้งไฟปานกลาง เคี่ยวประมาณ 10 นาที จนเป็นน้ำเชื่อมเหนียวเข้มข้น
เมื่อเคี่ยวน้ำเชื่อมได้ที่ดีแล้ว ก็นำลูกหยีที่เตรียมไว้ใส่ลงในกระทะน้ำเชื่อม ทำการคนคลุกเคล้าให้เข้ากัน ยกลง พอเริ่มอุ่น ๆ ก็นำไปปั้นเป็นเม็ดกลม ๆ พอดีคำ แล้วนำไปตากแดดอีกประมาณ 20 นาที จากนั้นห่อด้วยกระดาษ และใส่ลงบรรจุภัณฑ์ พร้อมจำหน่าย โดยสามารถเก็บไว้ได้นานถึงประมาณ 3 เดือน
สินค้าของอาจารย์สาลีมีให้เลือก 3 ประเภทคือ ลูกหยีกวน ลูกหยีสด ลูกหยีทรงเครื่อง ราคาขายแตกต่างกันไปตามขนาด และบรรจุภัณฑ์ แต่เฉลี่ยอยู่ที่ขีดละ 40 บาท มีต้นทุนประมาณ 70%
ร้านลูกหยีแม่หนูดำ อยู่ที่เลขที่ 52/2 ถ.ประชาบาล ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง, ที่สนามบินหาดใหญ่ และโซนโอทอป ห้างเทสโก้โลตัส สาขาพัทลุง ส่วนในกรุงเทพฯมีขายที่ร้านโครงการหลวง ใกล้โรงพยาบาลศิริราช และมีบริการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ทั่วประเทศด้วย ใครต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ต้องการสั่งซื้อ ต้องการสั่งไปจำหน่ายต่อ ติดต่อที่ โทร.0-7462-6414 หรือ 08-6627-0867
เชาวลี ชุมขำ :รายงาน
ที่มา เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น