มาปลูกสมุนไพรเพื่อสุขภาพดีกว่า
ขมิ้นขมิ้น เป็นพืชในตระกูลชิงจิเบอราซีอี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เคอร์คูมา ลองกา (Curcuma longa L) เป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินเช่นเดียวกับขิงและไพล โดยมากนักจะเรียกส่วนที่เป็นลำต้นนี้ว่าเหง้า ลำต้นส่วนที่เหนือดินมีความสูง ประมาณ 1 เมตร ใบมีขนาดยาว 2-3 ฟุต ปลายใบมน ใบมีสีเขียว ดอกมีสีขาวแกมเหลือง ขมิ้นมักจะขึ้นรวมกันอยู่เป็นกอๆ ส่วนเหง้าจะมีเนื้อ สีเหลืองจัด ถ้าเจริญในดินปนทรายจะให้เหง้ามากกว่าปลูกในดินธรรมดา เจริญได้ดีในฤดูฝน ขมิ้นเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศในแถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่กระจายไปสู่แถบต่างๆ มีบันทึกไว้ว่า มาร์โค โปโล (Marco Polo) ได้นำไปปลูกในจีน เมื่อ พ.ศ.1280 จากนั้นจึงแพร่เข้าสู่ยุโรป และส่วนอื่นๆ ของโลกในปัจจุบันนี้ขมิ้นมีปลูกกันมากในอินเดีย (โดยเฉพาะเมืองมัดราส บอมเบย์ และเบงกอล) ลังกา ภาคใต้ของจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไฮติ เปรู และจาไมกา ใน แต่ละปีประเทศต่างๆ ผลิตขมิ้นได้ประมาณ 160,000 ตัน ในจำนวนนี้ผลิตจากอินเดียและบังคลาเทศถึง 90 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในอินเดียนั้นมีความต้องการขมิ้นเป็นอย่างมาก ขมิ้นที่ผลิตได้ในแต่ละปีจะนำไปใช้ ภายในประเทศมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือนำไปขายยังสหรัฐอเมริกา ศรีลังกา และญี่ปุ่น
ประโยชน์
ขมิ้น เป็นเครื่องเทศที่ใช้กันมานานแล้ว โดยนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย จากหลักฐานที่ค้นพบกล่าวว่า ขมิ้นได้มีใช้กันในชาวแอสซีเรียน (Assyrian) ตั้งแต่ 600 ปีก่อนพุทธศักราช การใช้ขมิ้นส่วนใหญ่ จะใช้เป็นเครื่องแต่งกลิ่น รสและสีในอาหารหลายชนิด เช่น แกงกะหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นยาอีกด้วย เช่น เป็นยาลดกรด ขับลมแก้ปวดท้อง แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลลง ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ขับน้ำเหลือง ใช้รักษารอบเดือนไม่ปกติ น้ำที่ได้จากขมิ้นนำมารักษาโรคผิวหนัง หรือนำมาพอกแก้ปวดตามข้อได้ แก้โรคตา แก้บิดปวดท้อง แก้ดีซ่าน แก้ท้องร่วง นำส่วนเหง้าไปต้มให้สุก แล้วบดให้ละเอียด นำไปทาแก้โรคผิวหนัง ทาตามซอกอับในร่างกายเพื่อบำบัดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา เหง้าขมิ้นกินแก้โรคภายในทั้งปวง แก้เสมหะ นำขมิ้นไปต้มกับน้ำนมและน้ำตาลใช้รับประทาน เพื่อป้องกันและรักษาไข้หวัด นอกจากนี้ยังนำไปใช้รักษาแผลสดและทำลายพยาธิได้
นอกจากจะใช้ ประโยชน์จากขมิ้นดังกล่าวแล้ว ยังนำไปใช้เป็นสีย้อมและเครื่องสำอางอีกด้วย การใช้เป็นสีย้อมจะพบมากในอินเดีย จีนและบางส่วนของยุโรป ส่วนการใช้เป็นเครื่องสำอางนั้น จะพบมากในแถบตอนใต้ของเอเชีย และในหลายประเทศแถบตะวันออกไกล โดยใช้ขมิ้นทาผิวหน้า จะทำให้มีผิวนุ่มนวล ในมาเลเซียใช้ขมิ้นผสมน้ำสำหรับใช้อาบเพื่อให้ร่างกายสะอาด ในอินเดียใช้ทาที่ผิวหนังของผู้หญิงเพื่อป้องกันไม่ให้ขนงอก จากการศึกษาต่อมาพบว่าขมิ้นยังมีผล ต่อการแบ่งเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย โดยจะทำให้สายของโครมาติกแยกออกจากกัน เกิดการแตกหัก และถูกทำลายในที่สุด
สารเคมีที่สำคัญ
สาร เคมีที่พบในขมิ้นนั้นจะพบในส่วนของน้ำมันหอมระเหยเป็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้วขมิ้น จะมีน้ำมันหอมระเหยตั้งแต่ 2-6 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันมีสีเหลืองและเรืองแสงได้เล็กน้อยสารเคมีที่พบมากที่สุดคือ เทอร์มีโรน (termerone) ประมาณ 58-59 เปอร์เซ็นต์ สารนี้มีสูตรโมเลกุลเป็น C15 H22 O รองลงมาได้แก่ ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบสารต่างๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ ซาบินีน (sabinene), บอร์นีออล (borneol), ซินีออล (cineol), เทอร์พีรอล (termerol), เคอร์คูโมน (curcumone) และฟิลแลนดรีน (phellandrene)
ในสารดังกล่าวนี้นั้นพบ ว่า เทอร์มีโรนหรือดีไฮโรเทอร์มีโรนและเคอร์คูโมนไม่ได้มีพบอยู่ ในน้ำมันหอมระเหยของขมิ้น แต่เกิดจากการรวมตัวในขณะที่มีการสกัดสารต่างๆ เช่น เคอรีคูโมน จะเกิดขึ้นในขณะที่มีการนำสารพวกอัลคาไล (alkali) เติมในน้ำมันหอมระเหย
นอกจากนี้ยังพบสารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เคอร์คูมิน (curcumin) ซึ่งมีประมาณ 1.8-5.4 เปอร์เซ็นต์ สารนี้มีสีเหลืองส้ม หรือสีเหลืองแดง ซึ่งเป็นสีของขมิ้นนั่นเอง สารนี้ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ และกรดอะเซติค
จากการ ศึกษาต่อมาพบว่า ปริมาณน้ำมันหอมระเหยและเคอร์คูมินในขมิ้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุของพืช กล่าวคือขมิ้นที่มีการเจริญเต็มที่แล้วจะมีปริมาณของเคอร์คูมินเปลี่ยนแปลง ไป ในช่วงระยะการเจริญตั้งแต่เดือนที่ 5 ถึงเดือนที่ 8 เพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยในขมิ้น ที่มีการเจริญเต็มที่จะมีปริมาณลดลงและการลดลงจะมีมากที่สุดในเดือนที่ 8 นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในการปลูกขมิ้นนั้น ถ้าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือฟอสฟอรัสหรือโปตัสเซียมหรือทั้งสามชนิด จะทำให้ได้ผลผลิตของขมิ้นเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณของเคอร์คูมินจะลดลง
ประสิทธิภาพต่อจุลินทรีย์
ขมิ้น มีประสิทธิภาพต่อจุลินทรีย์ได้ทั้งแบคทีเรียและรากล่าวคือ สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดโรคโบทูลิซึม (Clostridium botulism) และโรคในระบบทางเดินอาหาร (เช่น Salmonella spp.) นอกจากนี้ยังยับยั้งการเจริญของราที่ทำให้อาหารเน่าเสีย (เช่น Rhizopus, Penicillium, Aspergillua) ได้อีกด้วย
ขมิ้นนอกจากจะมีความสามารถ ในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ได้แล้ว ยังกระตุ้นการเจริญของจุลินทรีย์บางชนิดได้อีกด้วย โดยจะกระตุ้นการเจริญของแลคโตบาซิลไลสเตรพโตคอคไค และอี.โคไลได้ดี ซึ่งความสามารถดังกล่าวนี้อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหมักดอง เป็นต้น
รศ.บัญญัติ สุขศรีงา
กระเทียม มีสารสำคัญอะไร?
กระเทียม ถูกนำมาใช้เป็นยาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณเรื่อยมา เข้ามาในยุโรป อินเดีย และเอเชียและเผยแพร่เข้าไปในอเมริกา ปัจจุบันมีการวิจัยพยายามศึกษาหาสารในกระเทียมว่า มีสารอะไรบ้าง ที่มีประโยชน์ในการรักษาโรค โรคที่ใช้รักษาได้คือ โรคหัวใจ, มะเร็ง, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ใช้ต่อต้านอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำลายเซลล์ดีๆ ของร่างกาย ฯลฯ
กระเทียมประกอบด้วยสารมากมายหลายชนิด แต่ละชนิด จะออกฤทธิ์แตกต่างกันไป วิธีการเตรียมหรือผลิตกระเทียม ให้เป็นยาด้วย ความร้อน, การละลายด้วยน้ำหรือน้ำมัน จะได้สารออกมาแตกต่างกัน รักษาโรคไม่เหมือนกัน ดังนั้นการจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากกระเทียมควรทำอย่างไร ?
สารที่ ให้ประโยชน์ในการรักษาจะได้จากการสกัดกระเทียมด้วยน้ำ ซึ่งได้หลายชนิด ชนิดที่ให้ประโยชน์และนำมาทดลองกันมากคือ แอลไลซิน (ALLICIN) ซึ่งไม่ค่อยคงตัว จะสลายตัวได้ง่าย ภายใน 6 วินาที เราไม่สามารถวัดสารแอลไลซินได้ในเลือด เมื่อบริโภคกระเทียมเข้าไปหรือไม่ สามารถวัดปริมาณของแอลไลซิน ในผลิตภัณฑ์ของกระเทียมแต่เราจะวัดสารชื่อ แอลไลอิน (ALLIIN) และแอลไลอิเนส (ALLINASE) แทน เพราะทั้งสองสารนี้ เมื่อผสมกันแล้วจะเกิดสาร "แอลไลซิน" ซึ่งให้ฤทธิ์ในการรักษา ภายในชั่วเสี้ยววินาทีเมื่อถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร พูดง่ายๆ ก็คือ เราวัดคุณภาพของผลิตภัณฑ์กระเทียมจากปริมาณสารสองตัวนี้
ประโยชน์ของกระเทียม
ป้องกัน โรคหัวใจ ลดการอุดตันของเส้นเลือด, ลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือดได้ 58%, ลดคอเลสเตอรอล, ลดไตรกลีเซอไรด์, ลดความดันโลหิต, เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
ป้องกันโรคมะเร็ง สารประกอบในกระเทียมจะยับยั้ง การเกิดสารก่อมะเร็งที่ชื่อไนโตรซามีนในร่างกาย ซึ่งช่วยป้องกัน การเป็นมะเร็งได้, สารอีกตัวหนึ่งในกระเทียมชื่อ S-ALLYLMERCAPTO CYSTEINE ช่วยลดอุบัติการการเกิดมะเร็ง ในต่อมลูกหมากถึง 50% และได้ตีพิมพ์ในวารสาร AMERICAN JOURNAL OF CLINICAL NUTRITION ปี 1997
เสริมสร้างภูมิ คุ้มกัน การศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์ของกระเทียม ที่ผลิตโดยเทคนิคใหม่ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า "aged garlic" จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้เพิ่มขึ้น เช่น macrophaqes, T-lymphocyte activity และ antibody production นอกจากนี้แล้วยังพบว่ากระเทียมมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค, เชื้อไวรัส และเชื้อรา อีกด้วย
อื่นๆ กระเทียมมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคติดต่อเชื้อทางเดินหายใจ, การเกิดพิษจากโลหะหนัก, หูอักเสบ, น้ำตาลในเลือดสูง, การปรับสภาพ ต่อความเครียด, การได้รับแอลกอฮอล์มากเกินไป, ท้องร่วง นอกจากนี้กระเทียมยังสามารถออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างแรง (major antioxidant) ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อโรคของหลอดเลือด (arterial disease) และโรคเสื่อมต่างๆ (degenerative tissue condition)
Aged Garlic
เป็น ผลิตภัณฑ์ของกระเทียมชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีผลิตโดยไม่ใช้ความร้อน แต่ใช้เวลาในการสกัดสารสำคัญออกมา เทคนิคนี้คิดค้นได้ ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เป็นการเปิดบทบาทใหม่ ของกระเทียมในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) และ bioactivator ขบวนการการผลิตจะลดกลิ่นของกระเทียม ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เทคนิคใหม่นี้ จะช่วยให้เรา ค้นพบประโยชน์ใหม่ๆ อีกมากมายของกระเทียม
จะรับประทานกระเทียมอย่างไรดีให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
การ ปรุงอาหารด้วยกระเทียมก็ยังคงเหลือสารกลุ่มซัลเฟอร์ ซึ่งยังคงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง, การรับประทานกระเทียมสดๆ จะดีที่สุด แต่จะระคายกระเพาะอาหาร ให้รับประทาน พร้อมอาหารโดยเฉพาะอาหารโปรตีน
คนที่ไม่ชอบกลิ่นกระเทียมหรือไม่ ได้รับประทานกระเทียมทุกวัน การรับประทานแคปซูล กระเทียมเป็นอาหารเสริมก็ให้ประโยชน์เช่นกัน ให้เลือกบริษัทผู้ผลิตกระเทียมที่เชื่อถือได้และควรมีฉลากระบุสารต่างๆ ในนั้นด้วย ให้ถามว่ามีการนำกระเทียมที่ผลิตได้นั้นไปทำการทดลอง ด้วยหรือเปล่าและมีการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารอะไรบ้าง
ยาเม็ดกระเทียมไม่ใช่กระเทียมสดแต่มีส่วนประกอบ ใกล้เคียงกับกระเทียมสด
ปริมาณ การบริโภคต่อวันขึ้นกับรูปแบบของการผลิต การใช้รักษาโรคควรเท่ากับหัวกระเทียมสด 4 กรัม, หรือ 600-1200 มก. ของ aged garlic, 2-5 มก. ของน้ำมันกระเทียม (garlic oil)
อาหารเสริม จากกระเทียมควรผลิตโดยวิธีที่ไม่ทำลาย สารธรรมชาติของมันจะได้ประโยชน์เทียบเท่ากระเทียมสด เทคนิคการผลิตวิธีใหม่ที่เรียก aged garlic จะช่วยลดกลิ่น และสารอื่นๆ ที่ไม่ต้องการออกไป ขณะเดียวกันก็ทำให้คุณภาพคงทน หรือไม่สูญสลายไปหมด
มี แพทย์คนหนึ่งซึ่งสนใจการรักษาโดยพืชสมุนไพรชื่อ JAMES DUKE, Ph.D. ได้วิจัยพบว่า กระเทียมมีสารประกอบ รวมกันถึง 202 ชนิด เขาบอกว่า "เราไม่ต้องไปหาสรรพคุณอื่นใด มาเพิ่มเติมอีก (ในการรักษาด้วยสมุนไพร) นอกจากพยายามคงสภาพ ของมันไว้ให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง"
กระเทียมมี คุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย จึงมีผู้ผลิตกระเทียม ออกวางจำหน่ายในรูปยาเม็ดหลายๆ บริษัทด้วยกรรมวิธี การผลิตแตกต่างกันออกไป ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การสกัดกระเทียมด้วยวิธีความร้อน, เย็น ก็จะได้สารออกมาไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่การสกัดกระเทียมด้วยน้ำหรือน้ำมัน ก็จะได้ตัวยา ออกมาแตกต่างกัน ดังนั้นก่อนซื้อผลิตภัณฑ์จากกระเทียม ควรต้องเลือกดูให้ดีๆ มิฉะนั้น จะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ควรเลือกบริษัทผู้ผลิตที่มีการนำยาที่ผลิตไปทดลองมาก่อน และได้ผลการทดลองออกมาเชื่อถือได้เท่านั้น
ภ.ญ.ยุวดี สมิทธวาสน์
เครือโรงพยาบาลพญาไท
"จ้ำจี้มะเขือพวง เมียน้อยเมียหลวงมาสอยดอกแค.."
ข้อ ความที่ยกมาข้างบนนี้ เป็นตอนต้นของเพลงร้องประกอบการเล่น ของเด็กไทยภาคกลางในอดีตเรียกว่าเล่น "จ้ำจี้" ซึ่งมีเพลงประกอบหลายเพลง แต่ที่นิยมร้องมากก็คือ จ้ำจี้มะเขือพวง และจ้ำจี้มะเขือเปราะ เป็นต้น
น่า สังเกตว่า เนื้อหาของเพลงที่เด็กนำมาขับร้องนั้น มักมาจากสิ่งที่พบเห็นและคุ้นเคยในสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม การทำมาหากิน ธรรมชาติ และชีวิตประจำวันในสมัยที่เกิดเพลงนั้นขึ้น เช่น เพลงจ้ำจี้มะเขือพวง กล่าวถึงเมียน้อยและเมียหลวง ซึ่งคงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในยุคนั้นที่ผู้ชายที่มีฐานะดีมักจะมีเมียหลายคน และคงอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน จึงไปสอยดอกแคด้วยกันได้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงผักพื้นบ้านที่นิยมกันในสมัยนั้นอีกสองชนิด คือ ดอกแคและมะเขือพวงนั่นเอง แสดงว่าทั้งดอกแคและมะเขือพวง พบอยู่ทั่วไปจนนำมาสื่อให้เข้าใจได้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
มะเขือพวง : มะเขือแห่งทวิลักษณ์
มะเขือ พวงมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Solanum Torvum Sw. อยู่ในวงศ์ Solanaceae ของพืชพวกพริกและมะเขือต่างๆ นั่นเอง มะเขือพวงมีลักษณะพิเศษบางประการต่างจากมะเขือชนิดอื่นๆ คือเป็นไม้พุ่มยื่นต้นข้ามปี ไม่ใช่พืชล้มลุกเหมือนมะเขือชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีขนาดใหญ่โตกว่ามะเขือชนิดอื่นๆ ด้วย เพราะมีทรงพุ่มสูงถึงกว่า 1 เมตร ขึ้นไปถึง 2 เมตร ทีเดียว
ตรงขาม กับขนาดใหญ่โตของลำต้น มะเขือพวงกลับมีผลขนาดเล็กที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับมะเขือชนิดอื่นๆ และมีผลออกรวมกันเป็นกลุ่มหลายๆ ผล อยู่บนช่อเดียวกัน จึงได้ชื่อว่า มะเขือพวง เพราะมีผลรวมอยู่เป็นพวงนั่นเอง
มะเขือ พวงมีดอกขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวหรือม่วง เกสรสีเหลือง ผลกลมขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านผลยาว อยู่รวมกันเป็นช่อกลม ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียวหนาเหนียว ผลแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อสุกเป็นสีแสดแดง ภายในผลมีเมล็ดมากมายแทบจะไม่มีเนื้อในผลเลย
มะเขือ พวงนับเป็นมะเขือโบราณที่ยังมีลักษณะเป็นพืชป่าอยู่มาก เพราะไม่มีการปรับปรุงพันธุ์ดังเช่นมะเขือชนิดอื่น ดังเช่นผลขนาดเล็ก เปลือกที่หนาเหนียว เมล็ดมีมากมาย และหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความทนทานแข็งแรงต่อดินฟ้าอากาศและโรคแมลงต่างๆ เหนือมะเขืออื่นๆ โดยเฉพาะลักษณะยืนต้นข้ามหลายๆ ปี และลำต้นทรงพุ่มใหญ่โตเป็นพิเศษ ซึ่งไม่พบในมะเขือชนิดที่ปรับปรุงพันธุ์แล้ว
จึงอาจกล่าวได้ว่า มะเขือพวงเป็นมะเขือโบราณที่มีทวิลักษณะ คือ ลักษณะที่ขัดแย้งกัน 2 อย่าง คือ ความใหญ่โตของทรงพุ่ม ซึ่งใหญ่ที่สุดในบรรดามะเขือด้วยกัน และขนาดของผลเล็ก ซึ่งเล็กที่สุดในบรรดามะเขือนั่นเอง
ถิ่นกำเนิด ดั้งเดิมของมะเขือพวง คือในเขตร้อน (tropical) แต่ไม่สามารถเจาะจงได้ว่าอยู่ที่ใดโดยเฉพาะ พบขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตร้อน ทั้งขึ้นเองตามธรรมชาติ และถูกนำมาเพาะปลูกในพื้นที่เกษตร
มะเขือพวง มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ไปตามท้องถิ่น เช่น มะเขือพวง (กลาง) มะแคว้งกุลา (เหนือ) หมากแข้ง (อีสาน) มะเขือละคร (โคราช) เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง เขือเทศ (ใต้) และมะแว้งช้าง (สงขลา) เป็นต้น
มะเขือพวงในฐานะผัก
ส่วน ใหญ่มะเขือพวงที่นำมาใช้เป็นผักก็คือผลอ่อนที่มีสีเขียว หากใช้เป็นผักจิ้มนิยมทำให้สุกโดยการ เผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ นอกจากนี้ยังอาจนำไปต้มหรือลวกให้สุกก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมกัน
ผลอ่อนดิบ นำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงป่าต่างๆ (ไก่ เนื้อ นก ปลา) แกงคั่ว (ไก่ ปลาไหล) แกงเขียวหวาน (ไก่ ลูกชิ้นปลา) แกงอ่อม (ปลาดุก) ซุปอีสาน และเครื่องจิ้มต่างๆ เช่น น้ำพริกมะเขือพวง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกหอยแมลงภู่ น้ำพริกไข่เค็ม และปลาร้าทรงเครื่อง เป็นต้น มะเขือพวงทำให้กลิ่นรส ของเครื่องจิ้มต่างๆ มีความพิเศษออกไปจากปกติ นับเป็นความริเริ่ม ที่ชาญฉลาดของแม่ครัวไทยในอดีต ที่ยังคงสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ทำให้เครื่องจิ้มของไทยมีความหลากหลาย สามารถตอบสนอง รสนิยมของผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง อันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย ที่ทำให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกนั่นเอง
ประโยชน์ด้านอื่นของมะเขือพวง
ผล ดิบของมะเขือพวงใช้เป็นยาแก้ไอ ขับปัสสาวะและช่วยย่อยอาหาร การกินผลมะเขือพวงดิบเป็นอาหาร (เช่นในเครื่องจิ้มชนิดต่างๆ ) ก็คงมีสรรพคุณทางยาด้วยเช่นกัน ส่วนรากของมะเขือพวง ใช้รักษาโรคฝ่าเท้าแตก หรือโรคตาปลา
ในด้านเกษตร มะเขือพวงนับเป็นมะเขือที่เหมาะกับการเกษตร แบบยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมี (ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช ฯลฯ) เพราะเป็นมะเขือที่ทนทาน แข็งแรง ต้นสูงใหญ่ และอายุยืนหลายปี ไม่ต้องปลูกและดูแลรักษามากเหมือนมะเขือชนิดอื่น การเก็บผลมะเขือพวง ใช้แรงมาก เพราะผลเล็กอยู่บนต้อนขนาดใหญ่ จึงเหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่ใช้แรงงานเป็นทุนหลัก ดังจะเห็นว่าในหมู่ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น ชาวไทยภูเขาต่างๆ นิยมปลูกมะเขือพวงไว้ในระบบเกษตรพื้นบ้าน เช่น วนเกษตร หรือไร่หมุนเวียนในเขตป่าภาคเหนือและภาคตะวันตก
สำหรับผู้ที่ต้องการ ปลูกผักสวนครัวเอาไว้บริโภคเองในครอบครัว ก็อาจปลูกมะเขือพวงเอาไว้สักต้นก็จะเก็บผลไปประกอบอาหารได้นานหลายปี โดยไม่ต้องปลูกใหม่หรือเอาใจใส่มากเท่าพืชหรือมะเขือชนิดอื่น
นอกจาก ประโยชน์สำหรับมนุษย์แล้ว มะเขือพวงยังเป็นอาหารที่ดี สำหรับนกหลายชนิดด้วย ผลมะเขือพวงสุกมีสีแสดแดงสะดุดตาดึงดูดนกมากิน และนำเมล็ดไปถ่ายไว้ในที่ต่าง ๆ เป็นการขยายพันธุ์มะเขือพวงตามธรรมชาติ เมื่อมะเขือพวงมีขนาดทรงพุ่มสูงใหญ่พอสมควรก็จะมีนกมาทำรังออกลูก เพาะพันธุ์กันบนต้นมะเขือพวงได้อีกด้วย ซึ่งผู้ปลูกจะได้รับความเพลิดเพลิน จากการสังเกตศึกษาชีวิตนก พร้อมกับได้บุญกุศลไปด้วยสมคำพังเพยที่ว่า "เสียกระสุนนัดเดียว แต่ได้นกหลายตัว" นั่นเอง ผิดกับพังเพยนิดเดียวตรงที่ นกหลายตัวจาการปลูกมะเขือพวงนั้นเป็นนกที่มีชีวิตและมีความสุข มิใช่นกที่ถูกยิงตายจากกระสุนนัดเดียวดังเช่นคำพังเพย
เดชา ศิริภัทร
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม
ชา เป็นอะไรๆ ที่ใครก็รู้จักกันทั้งโลก ไม่ว่าชาติไหนๆ คำว่า ชาแท้ๆ เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis หรือ Thea sinensis (syn.) อยู่ในวงศ์ Theaceae พืชชนิดนี้ น่าจะมีถิ่นกำเนิดมาจากจีน เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าชา ทั้งชาดำและชาเขียวมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง การดื่มชาเป็นประจำช่วยลดการมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ได้ เช่น มะเร็งในกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้เล็ก ปอด ผิวหนัง ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน และมะเร็งเต้านม
การชงชาแบบจีน เป็นเทคนิคการสกัดตัวยา ที่ทางเภสัชกรรมเรียกว่า defusion เป็นการสกัดสารที่เป็นตัวยาสำคัญ ด้วยน้ำร้อน ในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อไม่ให้สารที่ไม่พึงประสงค์ ถูกสกัดออกมา หรือเพื่อป้องกันไม่ให้สารที่ต้องการถูกทำลายด้วยความร้อนที่นานเกินไป รวมทั้งสามารถรักษากลิ่น รส ที่ต้องการของสมุนไพรชนิดนั้นๆ เอาไว้ได้ด้วย การชงชาแบบจีนจะเทน้ำร้อนในกาน้ำชาเล็กๆ ที่มีใบชาบรรจุอยู่ ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงรินน้ำชาออกมาดื่ม กลิ่นชาจึงยังคงหอมกรุ่นละมุน ทั้งยังไม่มีสารที่ไม่พึงประสงค์ออกมา
สมุนไพรที่ใช้รูปแบบในการบริโภค เช่นเดียวกับชา เรามักจะเรียกชาสมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่น ที่ต้องการคงไว้ไม่ให้สูญเสียไปกับความร้อนที่มากเกินไป ผู้บริโภคที่นิยมบริโภคชาสมุนไพร นอกจากต้องการฤทธิ์ทางยาแล้ว ยังต้องการสัมผัสกลิ่นที่ละเมียดละไมจากสมุนไพรด้วย
ส่วนคุณค่าทางยา ของชาสมุนไพรนั้น ขึ้นกับชนิดของชาสมุนไพร ไม่ใช่ว่าชาสมุนไพรทุกชนิด จะปลอดภัยในการบริโภค ตรงกันข้าม อาจจะเป็นอันตรายสำหรับบางคนได้ วิธีที่ดีที่สุดในการบริโภคชาสมุนไพรคือ ต้องเรียนรู้ข้อมูลของสมุนไพร ที่ใช้ในการบริโภคเป็นอย่างดีก่อนใช้ เพราะ สมุนไพรแต่ละชนิด มีข้อควรระวัง ขนาด และสรรพคุณต่างกัน ยิ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคที่รุนแรง ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ
ชา สมุนไพรส่วนใหญ่ จะมีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลม หรือเพียงเพื่อเสพกลิ่นรส เช่น ชาใบเตย ชาใบตระไคร้ ชามะตูม มักจะดื่มได้เรื่อยๆ ไม่จำกัดปริมาณหรือเวลา ชาสมุนไพรที่มีขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ มักจะเป็นชาประเภทนี้
เมื่อร่าง กายเราเจ็บป่วย หลายๆ โรคเราอาจฟื้นตัวได้เอง โดยไม่ต้องกินยาเคมี จนร่างกายเราสูญเสียความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันไป หรือเมื่อเราจะใช้ยาเราลองหายาที่มาจากธรรมชาติ ในการเยียวยาดูก่อน ชาสมุนไพรน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
สำหรับท่านที่ต้องการดื่มชา เพื่อความสุนทรีย์ และบำรุงสุขภาพก็นับเป็นอะไรที่ดีๆ ในชีวิตของคนเรา ที่ได้เชื่อมโยงชีวิตกับธรรมชาติ ผ่านกลิ่นรสที่หอมละมุนของชา ซึ่งบ้านเรามีชาสมุนไพรมากมาย ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ชารางจืด กำจัดพิษ (Detoxifier and Body-cleanser)
ทำ จากใบรางจืดอบแห้งมีกลิ่นใบไม้แห้ง หอมอ่อนๆ เป็นธรรมชาติ ให้น้ำชาสีน้ำตาลออกเขียว มีสรรพคุณกำจัดพิษ แก้เมาค้าง บรรเทาอาการผื่นแพ้ และลดความร้อนในร่างกาย เหมาะกับเมืองไทยในขณะนี้ ที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ชารางจืดไม่มีพิษดื่มเป็นประจำได้ทุกวัน
ชามะตูม บำรุงสุขภาพ (Tonic)
ทำ จากผลมะตูมแก่ บดเป็นผง ให้น้ำชาสีแดงออกน้ำตาล มีกลิ่นหอมหวานชวนดื่ม ส่วนใหญ่จะแต่งรสด้วยน้ำตาล เพื่อให้ได้รสชาดที่ดีขึ้น มะตูมเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงธาตุ แก้ร้อนใน เป็นยาอายุวัฒนะ
ชาขิง แก้หวัด และช่วยย่อย (Cold aid, digestive aid)
ทำ จากเหง้าขิงแก่ ที่มีน้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณทางร้อน ช่วยบรรเทาหวัด แก้คลื่นไส้อาเจียน เมารถเมาเรือ ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด คนเราถ้าระบบย่อยอาหารไม่ดีแล้ว ระบบอื่นก็จะพลอยรวนไปด้วย
ชากระเจี๊ยบ ขับปัสสาวะไขมันในเลือด(Diuretic,Lower blood cholestrol)
ทำ จากฐานรองดอกของกระเจี๊ยบแดง มีคุณสมบัติในการลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูง แก้กระหายน้ำทำให้ชุ่มคอชื่นใจ ชากระเจี๊ยบมีสีแดง รสเปรี้ยวมักเติมน้ำตาลเพื่อแต่งรส
ชาตระไคร้ ขับลม ช่วยย่อย (Digestive aid,anticramp)
ทำ จากต้นและใบตระไคร้อบให้แห้งแล้วบด ตระไคร้มีกลิ่นหอม ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมวิงเวียน แก้ปวดเกร็งในท้อง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ และมีรายงานการทดลองพบว่า ตระไคร้มีคุณสมบัติต้านมะเร็งได้ด้วย
ชาใบเตย บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ(Tonic, diuretic)
ทำ จากใบเตยหอม อบ บดเป็นผง มีสีเขียวใบเตย มีกลิ่นหอมชื่นใจ ใบเตยมีคุณสมบัติขับปัสสาวะ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ชาใบเตยจึงเหมาะกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง คนธรรมดาทั่วไปก็ดื่มได้ กลิ่นหอมของใบเตยชื่นใจ คลายเครียดได้ดีแท้
ชาชุมเห็ดเทศ ช่วยระบายท้อง (Laxative)
ได้ จากใบชุมเห็ดเทศคั่วให้แห้ง เพื่อลดการไซร็ท้อง แล้วบดเป็นผง ให้น้ำชาสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมของใบไม้คั่ว มีสรรพคุณเป็นยาระบาย แต่หากดื่มเป็นประจำร่างกายก็อาจดื้อยาได้ ควรหาวิธีอื่นในการสร้างนิสัยการถ่ายให้เป็นประจำโดยวิธีอื่นด้วย
ชาใบฝรั่ง ดับกลิ่น ฆ่าเชื้อ (Deodorant & antiseptic, antidiarrhea)
ทำ จากใบฝรั่งไทยอบให้แห้ง บดเป็นผง มีกลิ่นหอมชวนดื่ม มีคุณสมบัติดับกลิ่นปาก ฆ่าเชื้อในปากและคอ เหมาะที่จะรับประทานหลังอาหาร สามารถที่จะใช้ชาใบฝรั่งระงับอาการท้องเสีย (ในรายที่ไม่มีไข้) แต่ต้องชงอย่างเข้มข้นกว่าปกติ
ชาหญ้าหนวดแมว ขับปัสสาวะ (Diuretic)
ทำจากหญ้าหนวดแมวอบแห้ง บด มีรสคล้ายๆ ใบชา ชวนดื่ม มีคุณสมบัติขับปัสสาวะ
ขับ นิ่วก้อนเล็กๆ มีคุณสมบัติขับกรดยูริค เหมาะกับคนที่เป็นต่อมลูกหมากโต คนที่เป็นนิ่วก้อนเล็กๆ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด เหมาะกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน มีโปแตสเซียมสูง ระวังการใช้กับคนที่เป็นโรคหัวใจ
ชาดอกคำฝอย ลดไขมันในเลือด (Lower blood cholesterol)
ได้ จากดอกคำฝอยมีสีแดงชวนดื่ม กลิ่นหอมชื่นใจ มีคุณสมบัติลดไขมันในเส้นเลือด ขับเหงื่อ เป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงเลือดสตรี ขับระดู ระงับอาการปวดในสตรีที่รอบเดือนไม่ปกติ
ตัวอย่างชาสมุนไพรที่กล่าว มา เป็นชาสมุนไพรไทย ที่มีขายในท้องตลาด ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถดื่มได้ทุกวัน บ้านเรายังมีสมุนไพรมากมาย ที่สามารถพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของชาสมุนไพรได้ เช่น เราสามารถทำชาในมะกรูด ชากระเพา จากก้นครัวของเรา มารับรองแขก แม้ไม่มีขาย เราเพียงแต่เอามะกรูดที่ใช้ไม่หมด ผึ่งลมจนแห้ง (ต้องผึ่งลม อย่าตากแดด เพราะกลิ่นและตัวยาจะหายไป) แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่โหลปิดสนิททิ้งไว้ เวลาจะใช้ก็เอามาชงต่างใบชา ใช้น้ำผึ้งแต่งรสเวลาดื่ม แค่นี้เราก็มีน้ำชารับรองแขกที่ไม่เหมือนใคร
ชาสมุนไพรจึงเป็นคุณค่า วัฒนธรรมของตะวันออก ที่แผ่กระจายไปทั่วโลก การดื่มชาสมุไพร ก็คือ การสานต่อวัฒนธรรมสุขภาพดั้งเดิม ทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำอัดลมที่มีเพียงน้ำตาล คาเฟอีน และกลิ่นสังเคราะห์ แล้วอัดลมลงไป ชาสมุนไพรมีคุณค่ากว่าไหนๆ
แตงกวา : เครื่องสำอางในฝัน
แตง กวาเป็นผักคู่ครัว คู่ข้าวผัด และคู่กับหน้าขาวๆ ของสาวๆ ทั่วโลก เชื่อกันว่าแตงป่าที่ก้นหุบเขาหิมาลัย คือ บรรพบุรุษของเจ้าแตงทั้งหลาย ที่แพร่หลายอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ มีหลักฐานการนำมาปลูกเป็นผักในอินเดีย และในอียิปต์ ตั้งแต่เมื่อ 4000 มาแล้ว เป็นที่รู้จักกันมากว่า นอกจากการกินเป็นผักแล้ว การใช้เนื้อผลแตงกวาเป็นยาทางผิวหนัง และเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดี เช่น การรักษาผิวหน้าให้อ่อนเยาว์ ลบรอยเหี่ยวย่น ลบรอยแผลเป็น แก้สิว วิธีใช้ส่วนใหญ่ก็จะหั่นแตงกวาเป็นชิ้นบางๆ แล้วแปะทิ้งไว้พอกหน้า
การ ใช้แตงกวาของสาวๆ ในยุคนั้น จะไม่ใช่ไร้เหตุผลเสียทีเดียว เพราะพบว่าในแตงกวามีสารที่มีประโยชน์ต่อผิวหน้า ทั้งวิตามิน เกลือแร่ อมิโนแอซิด ซึ่งมีสรรพคุณตั้งแต่ ช่วยให้ผิวหนังอ่อนนุ่มชุ่มชื้น จากการที่แตงกวามีสารกลูซิด อมิโนแอซิด และเกลือแร่ต่างๆ ซึ่งจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นไว้ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม คืนความชุมชื้นตามธรรมชาติให้กับผิวหน้า นอกจากนี้แล้ว แตงกวายังสาร ซิสติน (cystin) และ เมธิโอนิน (methionin) ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น ความยืดหยุ่นนี่แหละสำคัญนัก คือ ถ้ายืดแล้วยืดเลยนี่สิยุ่ง เพราะมันกลายเป็นย่น ดังนั้น จึงมีการใช้แตงกวาลบรอยเหี่ยวย่นมาแต่โบราณกาล
แตง กวา ยังเป็นเครื่องสำอางที่แปลก คือ ช่วยทำให้หน้าชุ่มชื้น แต่ไม่ทำให้หน้ามัน ทั้งยังมีฤทธิ์กระชับรูขุมขนทำให้ผิวนวนเนียน ลดการเกิดสิว ทั้งยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆ แตงกวาจึงเหมาะจะเป็นเครื่องสำอาง พอกหน้าของคนเป็นสิว
ปัจจุบัน บริษัทเครืองสำอางทั่วโลก ใช้สารสกัดแตงกวาใส่ในครีมต่างๆ เช่น ครีมกันแดด ครีมลบรอบเหี่ยวย่น ครีมเพิ่มความชุ่มชื้น ครีมรักษาผิวมัน ครีมลบจุดด่างดำบนใบหน้า และยังผสมใส่ในแชมพู และโลชั่นต่างๆ ความเข้มของสารสกัดที่ใช้เครื่องสำอางเหล่านั้นอยู่ระหว่าง 1-10%
จะ ว่าไปแล้ว บ้านเรามีแตงกวาอยู่ในครัวอยู่แล้ว หากไม่รู้จักใช้ประโยชน์ก็น่าเสียดาย เพียงเราหั่นแตงกวาตามขวางมาพอกหน้าไว้สักพัก หรือนำแตงกวาปลอกเปลือกแล้ว นำไปปั่นในเครื่องปั่นคั้นเอาแต่น้ำมาทาหน้า น้ำแตงกวาที่ว่านี้ใช้สดๆ ดีที่สุดแต่ก็สามารถเก็บไว้ใช้ในตู้เย็นได้ประมาณ 2 วัน แต่ถ้าต้องการเก็บไว้นานๆ ก็นำแตงกวา 4 ส่วน กลีเซอรีน 3 ส่วน น้ำ 1 ส่วน ปั้นเข้าด้วยกัน จากนั้นกรองผ่านผ้าขาวบางนำน้ำที่กรองได้ เก็บไว้ใช้ได้ประมาณ 1 ปี แต่ควรจะเก็บในที่เย็น เพราะสารในแตงกวาที่มีประโยชน์ต่อผิวหน้าไม่ทนความร้อน
ส่วนท่าน ที่ต้องการที่จะทำครีมแตงกวาใช้เอง ก็หาครีมหรือโลชั่นแตงกวาที่ใช้กันอยู่แล้ว นำมาเติมแตงกวาในกลีเซอร์รีนสัก 2-4 ช้อนชาต่อ 100 กรัมคนให้เข้ากันเก็บไว้ใช้เป็นครีมแตงกวาทาผิว ปัจจุบันในเมืองไทยมีการนำสารสกัดแตงกวา มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่หลากหลาย นับเป็นสิ่งดีที่ในสังคมของเรา เริ่มที่จะมาคิดค้น พัฒนา สร้างสรรค์จากสิ่งที่เรามี ไม่ใช่เอาแต่ซื้อๆ และการซื้อของคนในบ้านเรานั้นบางครั้งก็จำเป็น บางครั้งก็ไม่จำเป็น การซื้อที่แพงและไม่จำเป็นก็คงเป็นการซื้อยี่ห้อ เครื่องสำอางสูตรเดียวกัน ต้นทุนเท่ากันราคาอาจจะแตกต่างกันเป็นสิบเท่า และถ้าผู้บริโภคทราบราคาต้นทุนวัตถุดิบของเครื่องสำอางต่างๆ แล้วจะตกใจ ว่าจริงๆ แล้วเราจ่ายเป็นค่าความมั่นใจแพงจริงๆ แต่บางทีเราก็ไม่สามารถจะเลี่ยงได้ ก็ขอให้คิดถึงของไทยๆ เลือกของที่คนไทยทำ ในยามที่ชาติเกิดวิกฤติเช่นนี้ การปอกแตงกวาปั่นคั้นออกมาเป็นน้ำ ปรุงแต่งให้สาวไทยใช้ได้อย่างคงความเป็นแตงกวาเอาไว้ เป็นกิจกรรมที่น่าชมเชยอย่างหนึ่ง ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ทำครีมแตงกวาออกมาในระดับที่พอจะแข่งกับ ของนอกได้แต่ในราคาที่แตกต่างกันลิบลับ และก็น่าชมเชยอีกหลายๆ แห่งที่ที่ได้มีความพยายามเช่นนี้เช่นกัน
การผลิตสิ่งที่ไทยมี เพื่อที่จะให้คนไทยใช้นั้น น่าจะเป็นวัตถุประสงค์ต้นๆ ของการพัฒนาใดๆ ในสังคมเรา การทำครีมแตงกวา ต้องจากสารสกัดแตงกวาที่ปลูกในประเทศไทย ไม่ใช่ต้องใช้แต่สารสกัดแตงกวา ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เจ้าสารสกัดแตงกวานี้เดินทางมาค่อนโลกแล้ว ค่อยนำมาผลิตในบ้านเรา แค่ค่าเดินทางของสารสกัดก็แพงโขแล้ว กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์เรา ก็ต้องจ่ายอีกมากทีเดียว ทำไมเราไม่ใช้อะไรที่สดกว่า ถูกกว่า ก็ปั่นแตงกวาใช้เองดีที่สุด
ว่านหางจรเข้ : ไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์
ว่าน หางจรเข้ จัดว่าเป็นสมุนไพรที่ใครๆ ทั่วโลกต่างก็รู้จักดี คนไทยสมัยก่อนอาจไม่ได้คุ้นเคยกับว่านหางจรเข้มากนัก เพราะว่านหางจรเข้ไม่ใช้พืชประจำถิ่นของเรา ว่านหางจรเข้เมีแหล่งกำเนิดอยู่ในแถบชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนี่ยนเช่นซาอุดิอา รเบีย บริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เกาะมาดากัสการ์ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ปัจจุบันว่านหางจรเข้แพร่กระจายไปทั่วโลก เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณมากมาย จนมีการตั้งสถาบันวิจัยเพื่อศึกษาเกี่ยวกับว่านหางจรเข้โดยเฉพาะ
คุณ ค่าของว่านหางจรเข้ เป็นที่รู้กันดีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งชาวยุโรป ชาวจีน และชาวอินเดีย รวมทั้งชาวอินเดียแดง ซึ่งให้สมยาเจ้าว่านหางจรเข้ว่า "ไม้เท้ากายสิทธิ์จากสวรรค์" เพราะไม่ว่าจะเอาเจ้าว่านหางจรเข้ไปรักษาอวัยวะส่วนไหน ดูเหมือนจะใช้ได้หมด และที่สำคัญ เล่ากันว่าพระนางคลีโอพัตรา ใช้น้ำเมือกจากว่านหางจรเข้บำรุงผิวพรรณ ทำให้พระนางมีความงดงามเป็นอมตะ ผิวพรรณผุดผ่องดังดรุณีแรกรุ่น ดังนั้น ว่านหางจรเข้นอกจากจะเป็นยาแล้ว จึงยังถือว่าเป็นเครื่องสำอางชั้นยอด
สรรพคุณที่โด่งดังของวุ้นว่านหาง จรเข้ เห็นจะไม่พ้นการรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก คงเป็นเพราะบ้านเกิดของว่านหางจรเข้ อยู่ในเขตทะเลทราย จึงสู้ความร้อนได้สบายมาก เมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกคราวใด ให้นึกถึงว่านหางจรเข้เข้าไว้ แต่ต้องใช้ให้เป็น คือ ให้มากพอ คือมากพอที่จะดับพิษร้อนได้ เรื่องของการดับพิษร้อน เป็นเรื่องที่เราต้องพึ่งตนเอง เมื่อเราถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกแล้ววิ่งโร่ไปหาหมอ หรือไปโรงพยาบาล ก็อย่าหวังว่าเขาจะดับพิษร้อนให้ เขาก็เพียงแต่รอให้เนื้อหนังพองลอกออก และใส่ยาป้องกันการติดเชื้อให้ ซึ่งคนไข้จะทรมาน จากการปวดแสบปวดร้อน และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ว่านหางจรเข้มีสรรพคุณในการดับพิษร้อนได้ชะงัดนัก
วิธี ใช้ก็คือ เลือกใบที่มีขนาดกว้างประมาณสองนิ้ว (ถ้าไม่มีขนาดที่ต้องการจริงๆ มีขนาดโตแค่ไหนก็ใช้ไปเถอะ) ปลอกเปลือกว่านหางจรเข้ออก แล้วล้างน้ำเอายางสีเหลืองๆ ออกให้หมด แล้วฝานเป็นแผ่นๆ นำไปวางบนบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก ถ้าดับพิษร้อนได้ คนไข้จะรู้สึกเย็นจนไม่รู้สึกปวดแสบปวดร้อน หรือรู้สึกปวดแสบปวดร้อนบ้างแต่น้อยมาก แล้วให้เปลี่ยนวุ้นว่านหางจรเข้เมื่อรู้สึกร้อน ถ้าจะให้ดับพิษร้อนได้ดีขึ้น ควรนำว่านหางจรเข้ที่ฝานเป็นแผ่นๆ ไปแช่ในตู้เย็น แล้วสับเปลี่ยนให้กับคนไข้บ่อยๆ ไปเรื่อยๆ จนคนไข้ไม่ปวดแสบปวดร้อนอีกต่อไป ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นวันๆ หรือหลายวันแล้วแต่ความรุนแรง แต่ก็คุ้มที่เนื้อหนังจะไม่ถูกทำลาย แม้ผิวหนังอาจมีรอยดำๆ ย่นๆ แต่ลอกออกมาในไม่ช้า ไม่เชื่อลองดู
สรรพคุณ ของจากว่านหางจรเข้ นอกจากจะดับพิษร้อนได้ชะงัดนักแล้ว ยังมีสรรพคุณในการรักษาแผลเรื้อรัง เพราะมีสรรพคุณในการเรียกเนื้อ ช่วยสมานแผล แต่ต้องเตรียมวุ้นว่านหางจรเข้ให้สะอาด โดยการล้างว่านหางจรเข้แล้วเช็ดเปลือกว่านหางจรเข้และมีดปลอกด้วยแอลกอฮอล์ ใส่แผล ล้างยางสีเหลืองออกให้หมด จากนั้นขูดเอาวุ้นว่านหางจรเข้ ใส่ในแผลที่ล้างสะอาด แล้วจึงปิดแผลไว้ด้วยผ้าก๊อซ สารอัลอคติน(aloctin) จะช่วยให้แผลตื้นและหายเร็วขึ้น เพราะไปกระตุ้นการเกิดใหม่ของเนื้อเยื่อ
ใน การรับประทานวุ้นจากว่านหางจรเข้ (ในที่นี้หมายถึง ส่วนที่เป็นวุ้นโดยปลอกเอาเปลือกและยางออกให้หมด) เป็นยาภายใน ท่านที่ปลูกว่านหางจรเข้ไว้มากๆ จะประหยัดเงินค่ายาได้ในหลายๆ โรคทีเดียวซึ่งมีวิธีใช้ในโรคต่างๆ ดังนี้ โรคเบาหวาน ให้รับประทานวุ้นจากใบสดยาวประมาณ สาม ถึงสี่เซนติเมตรทุกวัน จะสามารถลดการใช้ยาเบาหวานได้ โรคความดันโลหิตสูง ตับอักเสบ ไข้หวัด หอบหืด วุ้นจากว่านหางจรเข้ก็ช่วยได้ โดยมีวิธีใช้เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน วุ้นจากว่านหางจรเข้ยังแก้เมารถเมาเรือ โดยให้กินวุ้นจากว่านหางจรเข้ ยาวประมาณสองถึงสามเซ็นติเมตร ก่อนออกเดินทาง ส่วนโรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ อาหารไม่ย่อย ให้รับประทานวุ้นจากใบสด วันละสี่เซ็นติเมตร แบ่งรับประทานเป็นสองครั้ง นอกจากที่กล่าวมา วุ้นจากว่านหางจรเข้ยังมีสรรพคุณ เป็นยาบำรุงสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรงสดชื่น มีภูมิต้านทานได้ดีเยี่ยม
หลายท่านอาจจะ สงสัยว่า จะรับประทานวุ้นสด หรือวุ้นที่ผ่านการปรุงแต่ง เช่น ว่านหางจรเข้กระป๋อง น้ำว่านหางจรเข้ดี แน่นอนว่าวุ้นว่านหางจรเข้สดต้องดีกว่า แต่ท่านที่ไม่สะดวกในการรับประทานสด ก็รับประทานวุ้นว่าหางจรเข้เหล่านั้นก็ได้ ตำราทำอาหารดั้งเดิมของไทย ก็มีที่ทำวุ้นว่านหางจรเข้เชื่อม หรือแม้แต่ในตำรับยาพื้นบ้านในหลายประเทศ ก็ต้มวุ้นว่านหางจรเข้รับประทาน หรือแม้แต่ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การสะกัดด้วยน้ำร้อนของวุ้นว่านหางจรเข้ ก็มีฤทธิ์ทางเภสัชในห้องทดลอง เช่น ลดคอเลสเตอรอล เป็นต้น ดังนั้น การที่รับประทานวุ้นว่านหางจรเข้ ที่ผ่านต้มด้วยความร้อนนั้น ก็คงยังมีประโยชน์อยู่บางส่วน แต่สู้รับประทานวุ้นสดๆ ไม่ได้
ในด้านของการเป็นเครื่องสำอาง วุ้นจากว่านหางจรเข้มีสรรพคุณ ในการบำรุงผิว ป้องกันสิวฝ้า รักษาสิวจนเครื่องสำอางมากมายหลายยี่ห้อ จะใส่สารสะกัดจากว่านหางจรเข้ลงไป แต่การใช้วุ้นว่านหางจรเข้ในกับผิวหนังต้องระวังให้ดี ต้องล้างเอาส่วนที่เป็นยางสีเหลืองออกให้หมด หลังการปลอกเปลือกจริงๆ เราเพราะยางสีเหลือง มีฤทธิ์ระคายต่อเนื้อเยื่อ และบางคนอาจแพ้เป็นผื่นได้ วิธีใช้วุ้นจากว่านหางจรเข้ในการบำรุงผิวหน้า รักษาสิว ป้องกันสิวฝ้า ถ้าเป็นวัยรุ่นหน้าค่อนข้างมันก็ใช้วุ้นจากว่านหางจรเข้เป็นรองพื้นก่อนแต่ง หน้าไปได้เลย แต่ถ้าสูงอายุขึ้นมาหน่อย ถ้าใช้วุ้นจากว่านหางจรเข้อย่างเดียวหน้าจะตึงไปนิด ให้ผสมครีมทาหน้าสักเล็กน้อย
ว่านหางจรเข้ยังเป็นสมุนไพรที่ดีมาก สำหรับเส้นผม สามารถใช้วุ้นว่านหางจรเข้ทาผม แทนเจลใส่ผมทั่วไปได้เลย เพื่อรักษาอาการผมเสีย ผมแตกปลาย ส่วนคนที่ผมเสียมากๆ ไม่มีน้ำหนักแห้งกรอบ ให้ใช้ ไข่แดง น้ำมันมะกอก วุ้นว่านหางจรเข้อย่างละหนึ่งส่วน ใส่น้ำเล็กน้อยปั่นให้เข้ากัน นำไปหมักผมที่เปียกชุ่มด้วยน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วล้างออก สัปดาห์ละครั้ง สักสองครั้งก็เห็นผล วุ้นหางจรเข้ยังใช้ทาบริเวณที่ผมน้อย หรือผมร่วงผมจะงอกขึ้นมาใหม่
มังคุด : รักษาแผล ดูแลผิวหนัง
ผลมังคุดนั้นได้ชื่อว่า เป็นราชาผลไม้ของโลก ประเทศเขตร้อนชื้นแบบบ้านเราโชคดีจริงๆที่มีผลไม้อร่อยๆ เช่นนี้ แต่เขตร้อนชื้นที่ว่านี้ก็ทำให้เกิดโรคอับชื้น ผดผื่นคันหรือโรคผิวหนังอื่นๆ ได้ง่ายๆ เช่นกัน และก็ต้องใช้เปลือกเจ้าผลไม้ที่ขึ้นในเขตร้อนชื้นที่ชื่อ "มังคุด" นี่แหละเป็นยารักษา กล่าวคือ นอกจากจะให้รสชาติที่พิเศษสุดแล้ว มังคุดยังเป็นยาได้ทั้งราก ใบ ผล และเปลือกผล สรรพคุณทางยาที่สำคัญคือ การใช้เปลือกผลในการรักษาแผล
การรับประทานมังคุดทำให้การขับถ่ายดีขึ้น น้ำต้มรากมังคุดจะช่วยรักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ น้ำต้มของใบมังคุดกับกล้วยดิบ ผสมทิงเจอร์เบนซอยด์เล็กน้อย ใช้รักษาแผลจากการขลิบตามพิธีทางศาสนาอิสลาม น้ำต้มของเปลือกมังคุดแห้งใช้รับประทานแก้บิดมานานนับศตวรรษ ในหลายประเทศที่มีมังคุดให้ลิ้มลอง
ในเมืองไทยใช้เปลือกมังคุด ตากแห้งฝนกับน้ำดื่ม แก้อาการท้องเสีย เปลือกมังคุดตากแห้งใช้ทาแผลพุพองเน่าเปื่อย ด้วยสรรพคุณดังกล่าวนี้เอง จึงมีการนำเอามังคุดมาเป็นส่วนผสมทำสบู่สมุนไพร ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ใช้ไม่น้อย
ที่เป็นเช่นนี้เพราะในเปลือก มังคุดมี "แทนนิน" สารอะไรที่มีรสฝาดๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีสารแทนนินอยู่ทั้งนั้นในตำรายาไทยมักจะกล่าวถึงสารรสฝาดว่า มีฤทธิ์ชอบสมาน โดยจะช่วยในการรักษาอาการท้องเสีย และรักษาแผลพุพองต่างๆ โดยแทนนินมีฤทธิ์ตกตะกอนโปรตีน และส่วนใหญ่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค
แทน นินมีอยู่สองแบบ แบบหนึ่งสามารถถูกแยกออกเป็นโมเลกุลเล็กๆ ได้เรียก ไฮโรไลซ์ แทนนิน ให้เป็นกอลลิก เอซิก (gallic acid) เป็นสารที่มีสี ในเปลือกมังคุด ยังมีแทนนินอีกพวก เรียกคอนเดนส์ แทนนิน (condensed tannin) หรือเรียกอีกอย่างว่า โปรแอนโทรไซยานิน (proanthrocyanin) สารโปรแอนโทรไซยานินที่ไม่มีสีนั้น นอกจากพบในเปลือกมังคุดแล้ว ยังพบมากในเม็ดองุ่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้ความฝาดของเปลือกมังคุดทำไวน์เปลือกมังคุด โดยใช้เปลือกมังคุดครึ่งกิโลกรัม ในการทำไวน์มังคุด 20 กิโลกรัม เพื่อช่วยให้รสไวน์จับลิ้น และหวังผลในแง่การต้านอนุมูลอิสระ และนอกจากสารพวกแทนนินแล้วในเปลือกมังคุดยังมีสารตัวอื่นที่มีฤทธิ์ต้าน อนุมูลอิสระอีกด้วย การที่สารต้านอนุมูลอิสระนั้น ก็หมายความว่า หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสามารถ ใช้ชะลอความชราของเซล และช่วยทำสารสารพิษที่จะมาทำร้ายเซลได้
การที่เปลือกมีมังคุดมีรสฝาด จึงช่วยสมานผิวทำให้รูขุมขนกระชับ เมื่อรูขุมขนกระชับโอกาสที่เชื้อโรค สารพิษ จะแทรกเข้าผิวหนังผ่านรูขุมขนก็ยากขึ้น คนโบราณเมื่อเป็นตุ่มคัน อับชื้นเขาจะแนะนำให้ใช้เปลือกมังคุดต้มอาบ หรือใช้ชะล้างตุ่มคันเหล่านั้น และนอกจากนั้นเมือเป็นแผลในปากหรือเหงือกบวม ก็แนะนำให้ใช้เปลือกมังคุดต้มอมบ้วนปากอีกด้วย
และนอกจากนี้จาก การทดลองในห้องทดลอง ยังพบว่า สารบางตัวในเปลือกมังคุด ช่วยทำให้กระตุ้นให้เซล phagocyte ในร่างกายของคนที่ทำหน้าที่ทำลายเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำหน้าที่ได้ดีขึ้น
ดัง นั้นจึงเห็นว่ามังคุด เป็นผลไม้ที่มีศักยภาพ ทั้งทางด้านอาหารและยา เปลือกมังคุดที่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตรนั้น สามารถนำมาพัฒนาได้หลากหลาย เช่น มีการนำมาผสมกับสบู่ถูตัวเป็นสบู่เปลือกมังคุด ผู้ที่มีกลิ่นตัว ผิวมันมาก เป็นตุ่มคัน มีสิวเห่อเป็นประจำเวลาอับชื้น มักนิยมซื้อสบู่เปลือกมังคุดไปใช้ หรือบางรายก็นำเปลือกมังคุดพัฒนาเป็นไวน์ตามที่กล่าวมาแล้ว ส่วนท่านที่รับประทานมังคุดแล้ว ไม่ต้องรอให้ใครมาแปรรูปให้ยุ่งยาก เพียงนำเปลือกมังคุดไปทำความสะอาด แบ่งเป็นสี่ส่วน (เพื่อที่จะทำให้แห้งได้ง่าย) จากนั้นนำไปตากแดด แล้วเก็บไว้ในภาชนะปิดสนิท ใช้รักษาแผล ผดผื่นคันต่างๆ
กระเจี๊ยบแดง อาหารและยาสำหรับโรคทันสมัย : ความดัน คอเลสเตอรอล
กระเจี๊ยบ แดงเป็นสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยกันดี น้ำกระเจี๊ยบสีสวย เปรี้ยวหวานหอม กินแล้วสดชื่นดีจัง กระเจี๊ยบเป็นพืชเขตร้อน ที่พบได้ในหลายประเทศ กลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบเป็นสมุนไพรที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในทุกประเทศที่มีกระเจี๊ยบ
ใบอ่อน ยอดอ่อนของกระเจี๊ยบสามารถรับประทานเป็นอาหารได้ โดยใช้ใส่ในแกงแต่งรสเปรี้ยว ใช้แต่งกลิ่น หรือรับประทานเป็นผักสด ลำต้นของกระเจี๊ยบยังสามารถใช้ทำเป็นเชือกปอได้ดีระดับหนึ่ง ดอกกระเจี๊ยบมีสีแดงโดยทั่วไปใช้แต่งสีในอาหาร ในไวน์ ในน้ำหวาน
ประเทศ ต่างๆ ที่ใช้กระเจี๊ยบเป็นยา เช่น ในแอฟริกาใต้ใช้เมล็ดกระเจี๊ยบต้มกิน เป็นยาขับปัสสาวะ และเป็นยาบำรุง และใช้น้ำมันจากเมล็ดรักษาแผลให้อูฐ ในแอฟริกาตะวันออกใช้ใบต้มน้ำกินแก้ไอ ลดความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ ลดคอเลสเตอรอล ลดความหนืดของเลือด ขับพยาธิ
ในอียิปต์ ใช้กลีบเลี้ยงต้มกินกับน้ำตาลวันละสามเวลา ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ใช้ทั้งต้นต้มกินรักษาโรคหัวใจและโรคประสาท กินเป็นยาลดน้ำหนักเนื่องจากช่วยให้ระบาย และยังใช้เป็นยาช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้
ส่วนกัวเตมาลา ใช้น้ำตาลต้มกลีบเลี้ยงแห้งเป็นยาขับปัสสาวะ ยาลดการอักเสบของไต ในอินเดียและแม็กซิโกใช้กระเจี๊ยบเป็นยาเหมือนๆ กันและยังใช้กระเจี๊ยบในทางคล้ายๆ กัน คือ ใช้ใบต้มน้ำกินด้วยเชื่อว่าจะทำให้เลือดบริสุทธิ์ และใช้ตากแห้งต้มน้ำกินแก้ไอ
ในประเทศไทย ใช้ใบสดและกลีบเลี้ยงทั้งสดและแห้งของกระเจี๊ยบต้มกิน แก้ไอ แก้นิ่ว ลดไข้ ขับน้ำดี โดยใช้ใบสด 30-60 กรัม ต้มหรือแกงกิน ใช้กลีบเลี้ยงแห้ง 5-10 กรัม ต้มน้ำหรือชงน้ำร้อนกิน
การใช้ประโยชน์ทางยาของประเทศต่างๆ ที่กล่าวมา ประเด็นของการลดคอเลสเตอรอล กับลดความดันโลหิตสูงนั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับคนยุคนี้ เพราะเป็นโรคที่ไม่หายขาด เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์
การที่จะ ต้องแสวงหาทางเลือกให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่จะต้องช่วยๆ กันทำโดยเฉพาะการนำไปสู่การพึ่งตนเองด้านยา ทั้งในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ไม่มีปัญญา ผลิตยาแผนปัจจุบันได้เอง และยาสมัยใหม่ที่รักษาโรคพวกนี้ก็แพงแสนแพง
ถ้า เราไม่คิดกระบวนการส่งเสริมสุขภาพป้องกัน ไม่ให้เป็นโรคนี้เสียแต่แรก อีกไม่นานเราต้องเป็นทาสต่างชาติแน่นอนเพราะต้องซื้อยาแพงๆ พวกนี้กิน ซึ่งสักวันหนึ่งคนไทยอาจต้องจ่ายค่ายามากกว่าค่าข้าว
การมองหาทางเลือก ในการรักษาโรค โดยเฉพาะด้านสมุนไพร สำหรับโรคแห่งความทันสมัยนั้น เป็นสิ่งจำเป็น กระเจี๊ยบนับว่าเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจตัวเหนึ่ง เพราะจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า การทดลองในหนูโดยใช้กลีบเลี้ยงแห้ง ในความเข้มข้น 5% ของอาหารที่เลี้ยงหนูนั้น สามารถลดคอเลสเตอรอลได้
ในความเข้มข้นของกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบ ในอาหารที่เท่ากัน คือ 5% นั้นยังสามารถลดไขมัน ลดไตรกลีเซอไรด์ในหนูได้เช่นกัน
นอก จากนั้นยังพบว่า จากการทดลองในแมว สารสกัดด้วยน้ำของกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบ เมื่อฉีดเข้าเส้นแล้ว มีฤทธิ์ลดความดัน ส่วนน้ำต้มจากการทดลองให้คนกิน สามารถลดความดันโลหิตได้ และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ โดยทำการทดลองในหนู เมื่อใช้น้ำต้มกลีบเลี้ยงในขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม สามารถเป็นยาขับปัสสาวะที่แรงมาก และในขนาดที่เท่ากันนี้สามารถขับยูริคได้ดีในหนูเช่นกัน และน้ำต้มจากดอกทดลอง ในคนสามารถเป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาลดความดันโลหิตสูง เป็นยาลดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ ภายหลังการผ่าตัดผู้สูงอายุที่เป็นนิ่วในไต ได้
ส่วนสารสกัด จากกลีบดอกของกระเจี๊ยบนั้น ช่วยระบายทำให้อุจจาระนุ่มขึ้น ช่วยลดอาการบวม ช่วยยับยั้งการสร้างอะฟลาท๊อกซิน ช่วยปกป้องไม่ให้ตับถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีคล้ายฤทธิ์ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสตรีวัยทอง
ส่วนความเป็นพิษนั้น พบว่า การที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งนั้น ต้องกินน้ำสกัดกระเจี๊ยบ 129.1 กรัมต่อน้ำหนักหนูหนึ่งกิโลกรัม คือ ถ้าเปรียบเทียบกับให้คนกินแล้ว คนหนักประมาณ 60 กิโลกรัมจะต้องกินกระเจี๊ยบประมาณ 7.8 กิโลกรัม คิดว่าคนทั่วไปคงไม่มีปัญญากินอยู่แล้วล่ะ เพราะท้องจะแตกตายก่อนที่จะเป็นพิษจากกระเจี๊ยบ
ดังนั้น แนวโน้มของกระเจี๊ยบ จึงมีแนวโน้มที่จะลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอลได้ ขับยูริคได้ จึงควรมีพัฒนาการปลูกกระเจี๊ยบ เพื่อให้ได้กระเจี๊ยบที่ดีมีสารสำคัญสูง มีการศึกษาวิจัยทางคลินิก เพื่อหาขนาดการกินที่แน่นอนในคน ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิจัยอย่างมาก
ใน ภาคประชาชน การที่เราจะช่วยกันปลูกกระเจี๊ยบกินเป็นผัก เป็นยา เป็นชาบำรุงสุขภาพ ตามแนวโน้มของสรรพคุณที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเป็นการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูการใช้สมุนไพรของประเทศ ดอกกระเจี๊ยบก็สวยงาม ดูแล้วสดชื่นสบายใจ นอกจากนี้ในบางประเทศยังเชื่อว่า ดอกกระเจี๊ยบสีแดงเป็นสีแห่งพลังและความรัก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa L.
บัวบก : สมุนไพรมหัศจรรย์ บำรุงความจำ บำรุงสุขภาพ
บัว บกเป็นสมุนไพรในเขตร้อนที่ขึ้นในที่ชื้นๆ ทั่วไป เป็นผักพื้นบ้านที่คนในแถบนี้คุ้นเคย ในพม่ามียำใบบัวบก คนมาเลเซียผสมใบบัวบกลงในผักสลัด ในไทยนิยมใช้บัวบกเป็นผักแกล้มลาบ ส้มตำ ซุปหน่อไม้ กินกับน้ำพริก หรือกินกับหมี่กรอบ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย และเป็นที่รู้กันดีว่าน้ำใบบัวบกมีสรรพคุณแก้ช้ำใน คนจีนเชื่อว่าน้ำใบบัวบกเป็นยาแก้ช้ำใน ช่วยลดการกระหายน้ำ บำรุงกำลัง
ใน ตำรายาไทยกล่าวว่า บัวบกมีรสเฝื่อนขมย็น แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ ขับโลหิตเสีย ส่วนในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย บันทึกไว้ว่า บัวบกมีกลิ่นฉุน มีรสขมอมหวานย่อยได้ง่าย เป็นยาเย็น ยาระบาย ยาบำรุง ช่วยฟื้นฟูสภาพ บำรุงเสียง ช่วยให้ความจำดีขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้อักเสบ ผิวหนังเป็นด่างขาว โลหิตจาง มีหนองออกจากปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ น้ำดีในร่างกายมากเกินไป ม้ามโต หืด กระหายน้ำ แก้คนเป็นบ้า โรคเกี่ยวกับเลือดและโรคที่สมุฏฐานเกี่ยวกับเสมหะ
ขอบคุณทีมา บทความอาชีพเสริม ครับ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=orchids-and-fern&month=05-2007&date=17&group=1&gblog=21
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น