“ช่องทางทำกิน” เคยนำเสนอผลงานที่เกี่ยวกับงานกระดาษหรืองาน “เปเปอร์มาเช่” ไปหลายหน แต่ก็ยังมีคนค้นคิดและดัดแปลงผลิตภัณฑ์แนวนี้ออกมาอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่างานแนวนี้ยังไม่ถึงทางตัน อย่างเช่นงาน “กล่องรับซอง” ที่มีกลุ่มลูกค้าคือผู้ที่จัดงานมงคล โดยเฉพาะงานวิวาห์...
“ชลดิส ชุณหโสภาค” เจ้าของงานเล่าว่า เคยทำงานเป็นพนักงานประจำตลาดหลักทรัพย์ เพราะเรียนจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยยึดอาชีพดังกล่าวมานานกว่า 12 ปีจนรู้สึกอิ่มตัว จึงวางแผนที่จะออกมาจับธุรกิจสักประเภทเพื่อรองรับชีวิตในอนาคต จังหวะที่กำลังมองหาอยู่นั้นได้มีโอกาสได้ไปเห็นงานรูปแบบ “เปเปอร์มาเช่” เข้าก็เกิดความสนใจ จึงใช้เวลาว่างจากงานประจำไปอบรมและฝึกหัดทำ
เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ภายหลังจึงคิดว่าน่าจะถึงเวลาออกมาทำตามที่ตั้งใจเสียที จึงตัดสินใจออกมาผลิตงานแนวนี้เพื่อจำหน่ายตั้งแต่ปี 2544 โดยตอนแรกมีหน้าร้านวางจำหน่ายสินค้าที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จึงตัดสินใจไม่ทำร้าน แล้วหันมาสร้างเว็บไซต์ของตนเองขึ้น พร้อมเปลี่ยนมาผลิตงานแนวเวดดิ้ง ผลิต “กล่องรับซอง” ในงานแต่งงาน จับตลาดงานเวดดิ้ง และคู่รัก
“ตอนแรกลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยว เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นของที่ระลึก ตอนหลังมองว่าตลาดกลุ่มนี้มีความผันผวน มีความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมสูง และกระทบกับ ยอดขายได้ง่าย จึงมองหาตลาดใหม่ที่มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดแรก โดยมาสรุปที่ตลาดเวดดิ้งหรือลูกค้าคู่รักที่กำลังจะแต่งงาน” ชลดิสกล่าว
ข้อดีของตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ เขาระบุว่า ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ก็จะไม่ผันผวนตามสถานการณ์เหมือนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มักจะมีผลกระทบขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจและการเมือง ข้อดีประการต่อมาคือ โอกาสคิดงานไม่ออกหรือถึงทางตันมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนออกแบบและคิดงานให้ทำ เนื่องจากคู่รักแต่ละคู่ก็อยากจะได้สิ่งของที่ไม่เหมือนใคร หรือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
“ลูกค้าจะมีเรื่องราวหรือมีคอนเซปต์ที่เขาคิดมาไว้ก่อนแล้ว เรามีหน้าที่แนะนำและจัดทำสินค้าตามความคิดของเขา ขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง จึงพูดได้เลยว่าโอกาสตันเกิดขึ้นได้น้อยมาก” เจ้าของงานระบุ
วัสดุ-อุปกรณ์ในการทำชิ้นงาน ประกอบด้วย ดินเหนียว (ใช้ขึ้นรูปชิ้นงาน), ปูนปลาส เตอร์ (สำหรับหล่อโมลหรือแม่พิมพ์), เกรียงปาด, กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า, กระดาษแข็ง, แป้งข้าวเจ้า (สำหรับทำกาว), สีน้ำทาบ้าน, น้ำยาเคลือบมัน (ใช้ 2 สูตร คือสูตรน้ำกับสูตรยูริเทน) และที่เหลือก็เป็นพวกวัสดุตกแต่งตามต้องการ
ทุนเบื้องต้นอาชีพ ลงทุนประมาณ 5,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 40% จาก ราคาขาย โดยราคาขายเริ่มต้นตั้งแต่ชิ้นละ 600 บาท ไปจนถึงสูงสุด 4,500 บาท ขึ้นอยู่กับวัสดุตกแต่งที่จะต้องนำมาใช้ โดยการสั่งทำผลงานแต่ละชิ้นจะใช้เวลาในการทำประมาณ 3 สัปดาห์ หรือขึ้นอยู่กับแบบและความยากง่าย
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำแบบที่ต้องทำมาขึ้นรูปด้วยดินเหนียว โดยนำดินเหนียวมาปั้นขึ้นเป็นรูปทรงตามที่ได้ออกแบบไว้ เมื่อขึ้นจนเป็น รูปทรงที่ต้องการแล้ว ให้เทปูนปลาสเตอร์ที่ผสมรอไว้มาเทขึ้นรูปกับดิน เหนียวที่ปั้นไว้ จากนั้นตั้งทิ้งไว้จนแห้ง จึงกะเทาะออก ก็จะได้แม่พิมพ์สำหรับการแปะกระดาษ
ระหว่างนั้นก็ทำการเตรียมกระดาษที่จะใช้หุ้มชิ้นงาน ด้วยการฉีกกระดาษแช่น้ำไว้
เมื่อได้แม่พิมพ์แล้วก็ให้นำกระดาษที่เตรียมไว้มาทำการแปะและหุ้มให้รอบแม่พิมพ์ โดยการหุ้มให้เริ่มจากการหุ้มด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อน จากนั้นจึงนำกระดาษแข็งสีขาวที่เตรียมไว้มาค่อย ๆ หุ้มทับอีกชั้นหนึ่ง
สาเหตุที่ใช้กระดาษแข็งสีขาวแปะที่ชั้นนอกนั้น เจ้าของผลงาน กล่าวว่า จะช่วยทำให้พื้นผิวของชิ้นงานดูเนียนเรียบเสมอกัน และทำให้สีสันของชิ้นงานสม่ำเสมอ มีสีสันสดใส ชัดเจน ไม่เป็นรอยด่าง
เมื่อหุ้มกระดาษจนครบสมบูรณ์แล้ว ก็นำไปตากแดดทิ้งไว้ให้แห้ง โดยใช้เวลาประมาณ 1 วัน เมื่อชิ้นงานแห้งสนิทดีแล้วก็นำมาทำการลงสี วาดลวดลายตามที่ออกแบบไว้ ปล่อยทิ้งจนสีแห้ง จากนั้นจึงทำการลงน้ำยาเคลือบผิวมัน โดยใช้สูตรน้ำก่อน แล้วถึงค่อยลงน้ำยาสูตรยูริเทน เพื่อไม่ให้เกิดกรณีน้ำยาเคลือบผิวกัดผิวชิ้นงาน เมื่อเคลือบจนเสร็จก็ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ทำการตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่ง เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
“จุดเด่นของเราคือ นอกจากจะเน้นที่ตัวชิ้นงานเปเปอร์มาเช่แล้ว รอบ ๆ เราก็ยังเน้นการตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศด้วย ซึ่งกระแสตอบรับที่ได้กลับมาค่อนข้างดี นอกจากงานแต่งแล้วก็ยังมีลูกค้าประเภท อีเวนต์ที่สั่งทำชิ้นงานเพื่อนำไปตั้งโชว์เพื่อดึงดูดลูกค้า ณ จุดขายอีกด้วย” เจ้าของงานกล่าว
สนใจ “งานกระดาษ” เปเปอร์มาเช่ ที่ทำเป็น “กล่องรับซอง” ของชลดิส ติดต่อได้ที่ โทร.08-7593-0719 หรือดูในเว็บไซต์ www.pantipmarket.com/ mall/cjhandmade ส่วนใครที่สนใจอยากจะรู้วิธีทำมากกว่านี้ ก็ลองสอบถามจากเจ้าของงานโดยตรงได้เลย !!.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์