ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ มนุษย์เงินเดือน คนทำงานบริษัท หรือคนจากพื้นที่เกษตรที่เข้ามาทำงานในเมือง อาจต้องบ่ายหน้าออกสู่จังหวัด ต่าง ๆ แล้วมองหาอาชีพทางการเกษตรทำกันแทนอาชีพเดิม ซึ่งในยุคนี้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อาชีพทางการเกษตรก็ใช่ว่าต้องขะมุกขะมอมเสมอไป ไม่เว้นแม้แต่อาชีพ “เลี้ยงหมู”
สุวารี เอี่ยมรำ เกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงหมูขุน ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพฯ มา 3 ปี เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำอาชีพเกษตรกรเลี้ยงหมูนั้น เดิมไปทำงานเป็นพนักงานบริษัทอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นกับสามี หลังจากที่ตั้งท้องก็ตัดสินใจเดินทางกลับมาตั้งหลักที่เมืองไทย พอกลับมาอยู่บ้านก็พยายามมองหาอาชีพที่เป็นธุรกิจของตัวเองทำ จนได้ไปเห็นเพื่อนที่เป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูแล้วมีรายได้ดี จึงคิดว่าน่าจะลองเลี้ยงดู เพราะคิดว่าน่าจะสร้างรายได้ที่ดี อีกทั้งก็มีความชอบในอาชีพเกษตรกรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมู
หลังจากตัดสินใจแล้วว่าจะเลี้ยงหมู จึงไปปรึกษาและศึกษาการทำฟาร์มกับทางซีพีเอฟเพื่อขอเข้าร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย และหลังจากที่ผ่านคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนดไว้ ก็ตกลงทำทันที
“ที่เลือกเข้าโครงการนี้ก็เพราะเห็นว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะด้านการเลี้ยงสุกร มีการดูแล ส่งสัตวบาลเข้ามาดูแลตลอด ให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยง การจัดการ”
สำหรับเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ดังนี้คือ มีที่ดิน 5 ไร่ และพื้นที่จะต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสอบว่าเหมาะสมด้วย โดยพื้นที่เลี้ยงหมูนั้นชุมชนโดยรอบต้องยอมรับ มีแหล่งน้ำเพียงพอ ซึ่งพื้นที่ 5 ไร่ต้องมีเงินทุน 2,500,000 บาท ที่สำคัญคือจะต้องมีใจรักในอาชีพนี้ด้วย
เจ้าของฟาร์มเล่าต่อว่า เงินทุน 2,500,000 บาท จะใช้สร้างโรงเรือนระบบปิด ปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรืออีแวป (Evaporative cooling system) ขนาด 9 x 107 x 2 เมตร พื้นทำเป็นคอนกรีต ผนังคอนกรีต แบ่งออกเป็นคอก จำนวน 11 คอก จุหมูได้คอกละ 50 ตัว สามารถเลี้ยงหมูได้ทั้งหมด 550 ตัว ต่อ 1 รุ่น ส่วนระบบการให้อาหารจะติดไซโล หรือเครื่องจ่ายอาหารอัตโนมัติ ขนาด 7.5 ตัน 1 ลูก
เมื่อทำการสร้างโรงเรือนเรียบร้อย ก็เริ่มนำเอาลูกหมูมาเข้า โดยลูกหมูที่เอาเข้ามาจะมีอายุ 18 วัน เป็นลูกหมูที่เพิ่งหย่านม ลูกหมูที่นำเข้ามาจะต้องใช้ไฟอบเพื่อให้ความอบอุ่น ประมาณ 1 เดือน
การให้อาหารก็ให้ตามปกติ เช้า-เย็น ปริมาณที่ให้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของหมู ถ้าหมูเล็กก็จะให้อาหารวันละประมาณ 500 กิโลกรัมต่อรุ่น หมูใหญ่ขึ้นก็เพิ่มปริมาณอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนการดูแลทำความสะอาด ภายในโรงเรือนจะต้องเน้นเรื่องความสะอาดเป็นอย่างมาก ช่วงหมูยังเล็กการทำความสะอาดก็ยังไม่หนัก แต่เมื่อหมูเริ่มโตต้องทำเพิ่มเป็นวันละ 3 ครั้ง ต้องกวาดมูลทิ้ง เปลี่ยนน้ำ ดูแลอาหารวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น และต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน เฉลี่ยที่ 28 องศาฯ
ที่สำคัญไม่ควรอาบน้ำให้หมู เพราะจะทำให้สุขภาพหมูแย่ และสูญเสียภูมิต้านทาน
สุวารีบอกต่อไปว่า หมู 1 รุ่นจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 24 สัปดาห์ หมูจะได้น้ำหนักตามที่ต้องการ ซึ่งทางซีพีเอฟจะส่งพนักงานมาจับ โดยใน 1 รุ่น หมู 550 ตัว ถ้าดูแลเลี้ยงดูดี หลังหักค่าไฟฟ้าเดือนละ 4,000 บาท และค่าแรงอีกเดือนละประมาณ 5,000 บาท ก็จะเหลือรายได้ประมาณ 170,000 บาทต่อรุ่น
กับค่าอาหารเลี้ยงหมูนั้น ถ้าอยู่ในโครงการนี้จะไม่เสีย ทางโครงการจะจัดการให้ โดยรายได้ของเกษตรกรจะมาจากน้ำหนักหมูที่เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงดู ขณะที่ค่าไฟนั้นถ้าในฟาร์มมีระบบผลิตไบโอแก๊ส ก็อยู่ที่เดือนละประมาณ 4,000 บาท แต่ถ้าไม่มีก็จะตกประมาณเดือนละ 12,000 บาท
ใครที่สนใจขอเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงหมูขุน สุวารีฟาร์ม ก็ลองติดต่อสอบถามกับสุวารีที่ โทร. 08-4825-9815 ส่วนถ้าใครต้องการสอบถามเพิ่มเติมเรื่องการ “เลี้ยงหมูขุน” ด้วยการใช้เทคโนโลยี-อุปกรณ์ทันสมัยเข้ามาช่วยเลี้ยง ตามโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อยของซีพีเอฟ
คู่มือลงทุน...เลี้ยงหมูขุน
ทุนเบื้องต้น ขึ้นอยู่กับขนาด-ปริมาณการเลี้ยง
ทุนหมุนเวียน ประมาณ 50,000 บาท/550 ตัว
รายได้ ประมาณ 170,000 บาท/550 ตัว
แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป
ตลาด เข้าโครงการมีบริษัทรับซื้อถึงฟาร์ม
จุดน่าสนใจ เข้าโครงการจะดูแลง่าย-รายได้ดี
ที่มา ...บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น