เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานประธานกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน หรือโครงการ "ต้นกล้าอาชีพ" แถลงว่า โครงการตั้งเป้าหมายฝึกอบรมผู้ว่างงานให้ได้ 5 แสนคน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกภายในปี 2552 ตั้งเป้าฝึก 2.4 แสนคน ระยะ 2 จะเริ่มปี 2553 ฝึก 2.6 แสนคน โดยกลุ่มเป้าหมายมี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ว่างงาน, กลุ่มถูกเลิกจ้าง, แรงงานที่อยู่ในข่ายจะถูกเลิกจ้าง และบัณฑิตจบใหม่
"นอกเหนือจากหลักสูตรที่เตรียมไว้แล้ว ภาครัฐจะพยายามมองหาการจ้างงานของหน่วยราชการ อาทิ การเก็บข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติ การตรวจสอบการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการนมโรงเรียนที่อาจว่าจ้างบัณฑิตใหม่ไปตรวจสอบคุณภาพนมในพื้นที่ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่สามารถรับประกันได้ว่า คนที่ฝึกอบรมไปแล้วจะมีงานทำทั้งหมดหรือไม่ แต่เราจะพยายามทำให้ได้มากที่สุด" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายกนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการบริหารโครงการ กล่าวว่า ได้เตรียมอบรม 7 กลุ่มอาชีพ จำนวน 935 หลักสูตรเพื่อเปิดให้เลือกฝึกอบรมได้ตามความสนใจ ผู้ที่สนใจจะต้องใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานการลงทะเบียน สมัครทางเว็บไซต์ www.tonkla-archeep.com ตั้งแต่วันที่ 18-24 มีนาคมนี้ หรือสมัครด้วยตนเอง ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค ฮอลล์ 3 เมืองทองธานี ในวันที่ 22 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 10.00-21.30 น. ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถลงทะเบียนสมัครได้ที่สถานที่ฝึกอบรมและสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการโครงการ "ต้นกล้าอาชีพ" Call Center : 1111 หรือ www.tonkla-archeep.com
โดยใช้เวลาฝึกอบรมไม่เกิน 1 เดือน ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย 5 พันบาทต่อคนต่อเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยง 4.8 พันบาทต่อคนต่อเดือน ค่าพาหนะระหว่างอบรม 720 บาทต่อคน หากอยู่ต่างจังหวัดจะจ่ายค่าเดินทางเหมาจ่ายคนละ 3 พันบาท และหากผู้ฝึกอบรมตั้งเป้าหมายว่า ฝึกอาชีพเสร็จจะเดินทางกลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนา จะได้เงินช่วยเหลือ 3 เดือน เดือนละ 4.8 พันบาท
สำหรับรายละเอียดโครงการ "ต้นกล้าอาชีพ" โครงการฝึกอบรมแรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินของโลก ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศัยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน โดย 7 หลักสูตรการฝึกอบรมโครงการ "ต้นกล้าอาชีพ" มีดังนี้...
1. การเกษตรและการแปรรูปจำนวน 118 หลักสูตร ได้แก่
กลุ่มการผลิต เช่น การผลิตไม้ดอกเพื่อการค้า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตไก่อินทรีย์
กลุ่มแปรรูป เช่น การแปรรูปปลานิลแดดเดียว การแปรรูปทำไส้กรอกจากปลาดุก
กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การเกษตรแบบยั่งยืน การเกษตรผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
การฝึกอบรมเกษตรทางเลือก ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง
2. ภาคการผลิต จำนวน 319 หลักสูตร ได้แก่
กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้าและแก๊ส ช่างเชื่อมเหล็กดัด ประตู หน้าต่าง ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า
กลุ่มเสื้อผ้า สิ่งทอ เช่น การทำซิลค์สกรีน การทำผ้ามัดย้อมและมัดเพนท์ การทำผ้าด้วยกี่กระตุก การทำผ้าบาติค
กลุ่มเครื่องยนต์ เช่น การซ่อมรถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์ ช่างเครื่องยนต์ชุมชนช่างเคาะตัวถังรถยนต์
กลุ่มศิลปะประดิษฐ์และอัญมณี เช่น การแกะสลักวัสดุอ่อนเบื้องต้น การขึ้นรูปกระถางต้นไม้ด้วยแป้นหมุน การทำของชำร่วยด้วยเซรามิค การออกแบบเครื่องโลหะและรูปภัณฑ์อัญมณี
3. การบริการและการท่องเที่ยว จำนวน 298 หลักสูตรได้แก่
กลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ การอบรมมัคคุเทศก์ พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานผสมเครื่องดื่ม การทำอาหารว่างนานาชาติ การฝึกอบรมภาษา และธุรกิจโฮมสเตย์
กลุ่มสุขภาพ ได้แก่ การนวดแผนไทย นวดลูกประคบ สปาการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ
กลุ่มการซ่อมแซม และบำรุงรักษา การซ่อมเครื่องปรับอากาศรถยนต์ การซ่อมเครื่องยนต์ดีเซล การซ่อมเครื่องยนต์เบนซิน การซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตรการซ่อมจักรอุตสาหกรรม
4. การค้าและเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 12 หลักสูตร ได้แก่
กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชน การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์
การขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต (e-Commerce) การสร้างร้านค้าทางอินเตอร์เน็ต
กลุ่มผู้ประกอบการ เช่น การประกอบการธุรกิจชุมชน ร้านค้าปลีกกลุ่มแม่บ้านและวิสาหกิจชุมชน
5. คอมพิวเตอร์และธุรการ จำนวน 117 หลักสูตร ได้แก่
Software
กลุ่มออกแบบ เช่น โปรแกรม AUTO CAD เพื่องานออกแบบก่อสร้าง ออกแบบชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เขียนแบบเครื่องกลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Solid Work
กลุ่มงานในสำนักงาน เช่น Office and Multimedia การจัดทำระบบข้อมูลทางการเงินและบัญชีด้วยโปรแกรม Excel และโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการทำงานทางธุรกิจ
การใช้คอมพิวเตอร์ในสำนักงานด้วยโปรแกรม Microsoft Office
การพัฒนาโปรแกรมด้วย MS Access โดยใช้ระบบงานบุคคล
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับการประกอบธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต
Hardware
ช่างคอมพิวเตอร์ เช่น ซ่อม ประกอบ ติดตั้งระบบบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์และเครือข่าย
6. คมนาคมและการขนส่ง จำนวน 1 หลักสูตร
วิชาชีพด้าน Logistics หรือการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางเรือ
7. การก่อสร้าง จำนวน 23 หลักสูตร
กลุ่มช่างต่างๆ เช่น การปูกระเบื้อง ช่างไม้ก่อสร้าง ช่างสีอาคาร
กลุ่มการผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น การทำบล็อคคอนกรีต การผลิตซีเมนต์
คุณสมบัติของผู้สมัคร
1. เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย
2. มีอายุ 18-60 ปี นับถึงวันสมัครฝึกอบรม
3. เป็นผู้ว่างงานตามรายละเอียดของโครงการ ดังนี้
- ผู้ว่างงานที่สนใจฝึกอบรมอาชีพ รวมทั้งประชาชนที่สนใจเข้ารับการอบรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำความรู้กลับไปใช้ในการชุมชนบ้านเกิด
- ผู้ถูกเลิกจ้างแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมและประสงค์จะเพิ่มทักษะมากขึ้นและหลากหลาย เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนเอง
- ผู้สำเร็จการศึกษา ให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น