การที่จะประสบความสำเร็จเช่นนั้น นอกจากการมีพรสวรรค์เป็นต้นทุน สิ่งสำคัญผู้นั้นต้องมีฉันทะคือพรแสวงเต็มเปี่ยม พยายามฝึกฝนพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ เมื่อนั้นการได้เป็นนักเขียนมืออาชีพเป็นที่ติดอกติดใจของ นักอ่านย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม แต่การที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ นอกจากการฝึกฝนและการพัฒนาตนอย่างที่กล่าวมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นคือ เคล็ดลับวิธีจากนักเขียนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย
ปลูกนิสัย...รักการอ่าน
วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดีอิสระ เจ้าของรางวัลชนะเลิศ เซเว่นบุ๊ค อะวอร์ด ปี 2550 ประเภทสารคดี ผลงาน “ให้ความรักนำทาง” เป็นผู้หนึ่งที่กล้ายืนยันว่าไม่มีนักเขียนคนไหนประสบความสำเร็จโดยไม่ผ่านการอ่านมาก่อน รวมถึงตัวเขาที่อ่านทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี และอื่นๆ
“ผมมาจุดนี้เพราะอ่านหนังสือทุกประเภท ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น แม้แต่บทกวี ทำให้ได้ ทั้งสำนวน ภาษา ลีลา การดำเนินเรื่องราว การขึ้นต้น ลงท้าย จากการเขียนของนักเขียนแต่ละคน จากนั้นก็มาทดลองเขียนโดยเริ่มที่เรื่องสั้น 2-3 เรื่อง แล้วให้เพื่อนอ่านเพื่อนว่าเรื่องที่เขียนไม่ใช่เรื่องสั้นแต่เป็นสารคดี ดูยังไงก็เป็นสารคดี ตั้งแต่นั้นจึงเลือกเขียน สารคดีมาถึงวันนี้” วีระศักดิ์เล่าถึงเส้นทาง นักเขียนของเขา
หาแนวให้เจอ
การจะเป็นนักเขียนนั้น สิ่งสำคัญจะต้องหาแนวของตัวเองให้เจอ เพราะไม่อย่างนั้นจะหาดีสักอย่างไม่ได้ ซึ่งการที่จะเป็นนักเขียนนั้นต้องดูว่าตนเองชอบแบบไหน ถนัดแนวไหน เมื่อรู้ว่าชอบหรือถนัดแนวไหน จงหมั่นฝึกหัดในแนวนั้นๆ หรือหากไม่ชอบไม่ถนัด ก็สามารถที่จะเปลี่ยนไปลองเขียนแนวอื่นบ้าง จนกว่าจะหาแนวที่ตนถนัดและชอบ
“บางคนอยากเป็นนักเขียนนวนิยาย แต่พอเขียนไปกลายเป็นว่าเล่าเรื่องไม่เป็นเรื่อง ลำดับเรื่องไม่เป็น ขึ้นต้นลงท้ายไม่เป็น ฝึกอย่างไรก็แล้ว ก็อาจจะไปเขียนบทกวี เรื่องสั้น หรือเป็นนักวาดรูป อะไรสักอย่างก็ได้ เพื่อ ค้นดูว่าตัวเองชอบและถนัดอะไร อย่างผมตอนแรกเขียนเรื่องสั้น แต่เขียนยังไงก็ไม่เป็นเรื่องสั้น เพื่อนบอกเป็นสารคดี ก็เขียนสารคดีตั้งแต่นั้น” วีระศักดิ์ กล่าวอย่างอารมณ์ดี
ฝึกอย่างอดทนจากง่ายไปยาก
ประชาคม ลุนาชัย นักเขียนนวนิยาย ผู้หนึ่งที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นจอมล่ารางวัล เพราะผลงานของเขา 14 เล่ม ไม่นับรวมผลงานในปี 2551 ซึ่งมีประมาณ 3 เล่ม จากที่ได้ส่งเข้าประกวด ทั้งซีไรต์งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เซเว่นบุ๊ค อะวอร์ด และที่อื่นๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งหมด 12 เล่ม ซึ่งแม้จะไม่มีรางวัลซีไรต์สักเล่ม แต่ก็ถือว่าเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง
ประชาคมเริ่มต้นการเป็นนักเขียนด้วยบทกวีที่เขาบอกว่าตัวหนังสือไม่มาก จากนั้นก็เปลี่ยนมาเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย
“ผมเริ่มงานเขียนใหม่ๆ ยังไม่ไปถึงนวนิยาย แต่เริ่มที่อะไรมันดูง่ายกว่าคือบทกวี ความจริงบทกวีก็ยาก แต่บทกวีตัวหนังสือน้อย ใช้เวลาและเนื้อที่ก็น้อย พอเริ่มบทกวี ไประยะหนึ่งก็ดูไม่เป็นกวี กลายเป็นไป ซ่อมกลอนประตูหน้าต่างให้ชาวบ้านเขา จึงเปลี่ยนไปเขียนเรื่องสั้น ส่งไปลงตามนิตยสารต่างๆ” ประชาคมเล่าอย่างมีความสุข
ประชาคมเล่าว่า ถ้าเราฝึกความอดทนบ่อยๆ ก็จะทำให้มีความอดทนเพิ่มขึ้น เหมือนนักยกน้ำหนัก ซึ่งตอนยกแรกๆ เริ่มต้นด้วยการยกคานเปล่าๆ ต่อมาก็เพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่ออดทนกับตัวหนังสือน้อยๆ ได้อย่างบทกวีทนกับตัวหนังสือที่มากขึ้นอย่างเรื่องสั้นได้ จากนั้นจึงมาทดสอบกับนวนิยายซึ่งมีตัวหนังสือที่มากกว่า
เคล็ดเด็ด...เคล็ดลับง่ายๆ
ประชาคมแม้จะออกตัวว่าเขามิใช่นักเขียนที่ประสบความสำเร็จ และรางวัลมิใช่เป้าหมายสูงสุดของเขาในชีวิตของการเป็นนักเขียน โดยให้เหตุผลว่า งานเขียนหรืองานศิลปะทั้งหลายถ้ามีเป้าหมายอยู่ที่รางวัลจะทำให้เสียความบริสุทธิ์ เพราะเป็นการทำงานโดยพื้นฐานของตัณหาราคะ ความอยากเด่นอยากดัง และรางวัลก็เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่จูงใจให้นักอ่านเข้ามาดูผลงานเท่านั้น
แต่ประชาคมก็ไม่หวงวิชาที่ได้สั่งสมมา 10 กว่าปี ได้เปิดเผยถึงเคล็ดลับที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จเอาไว้
1.เรียนรู้จากผู้อื่น : หมายถึงการอ่านหนังสือของผู้อื่น อ่านประวัติของนักเขียน ศิลปิน บุคคลที่ประสบความสำเร็จ บุคคลที่ล้มเหลว บุคคลสำคัญๆ ศึกษาการเดินทางของคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งพวกเขามีเส้นทางให้ได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวเป็นตัวอย่างอยู่มากมาย
“การอ่านงานของคนอื่นนอกจากเราจะมีความสุข ความรื่นรมย์แล้ว ยังได้เทคนิค กลวิธี ได้ภาษา และอะไรอีกมากมาย หลายอย่าง” ประชาคม ยืนยัน
2.ตื่นขึ้นมาทำงาน : ประชาคมเล่าว่า อะไรที่คิดไว้แต่เมื่อคืนจะตื่นขึ้นมาทำเรื่องราวอะไรที่คิดไว้เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา เรื่องไหนที่กระตุ้นตัวเราที่สุดก็ต้องตื่นขึ้นมาเขียนทุกๆ วัน โดยไม่คิดว่าจะได้รวมเล่มไหม จะได้รางวัลไหม รู้เพียงว่าเป็นงานที่ทำแล้วมันเติบโตข้างใน สำนึกเราดีขึ้น
3.จินตนาการถึงความสำเร็จ : งานที่ดีต้องมีทีเด็ดในการสร้างสรรค์ ต้องมีอะไรพิเศษ ซึ่งต่างจากงานพื้นๆ ซึ่งจะเป็นงานที่ไม่ถูกกล่าวถึงและถูกหลงลืม เพราะฉะนั้นการเขียนจะต้องมีกลวิธีพิเศษ การใช้ภาษาพิเศษ มีการนำเสนอพิเศษ และพลังของเรื่องมันก็ต้องมีพลังที่พิเศษ
“ช่วงที่ผมเขียนหนังสืออยู่นั้นไม่มีความสำเร็จอะไร ทั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ห้องเช่าแคบๆ ทำงานวันต่อวัน ไม่มีพัดลม ไม่มีแอร์ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ทำงานเหงื่อท่วมตัวกับพิมพ์ดีดเครื่องเก่าๆ ถ้าอนาคตผมอยู่ในสิ่ง ที่ดีกว่านี้ สักวันหนึ่งงานของผมจะได้การ รวมเล่ม สักวันหนึ่งงานของผมจะมีคนอ่านทั่วประเทศ สักวันหนึ่งงานของผมจะได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศ”
นี่คือจินตนาการ แม้เราจะอยู่ในที่ที่ไม่สวยงาม ในที่ที่แคบๆ แต่จินตนาการของเราต้องกว้างใหญ่ไพศาลกว่านั้น
4.ทำความคิดให้ใหม่สด : เรื่องราวอะไรต่างๆ คนอื่นนำเสนอมาหมดแล้ว แต่นักเขียนที่ฉลาดจะต้องเสนอ แง่มุมของตนให้แปลกต่างจากคนอื่น อย่างเรื่องประวัติศาสตร์ ถ้าจะเขียนเชิดชูวีรบุรุษ วีรสตรี ก็มีคนเขียนมากแล้ว ในเรื่องนี้เราอาจหยิบตัวละครที่ไม่สำคัญหรือตัวละครกบฏ ก็ได้มานำเสนอ
นี่คือการมีมุมมองและความคิดที่แตกต่างจากคนอื่น
5.บดให้ละเอียด : ประชาคมเล่าว่า การจะเขียนถึงสิ่งไหนจะต้องรู้แจ้งในสิ่งที่จะเขียน ข้อมูลของตัวละคร ข้อมูลของเหตุการณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องกระจ่างแจ้งในใจเรา
6.ต้องละเมียดละไม : เรื่องราวทุกเรื่องจะต้องมีความหมดจดงดงาม ตั้งแต่การใช้ภาษา ตัวเรื่อง นักเขียนจะมีฝีมือมากน้อยกว่ากัน อยู่ที่ว่าใครจะทำเนื้อหาให้กลืนเข้าไปในเนื้อเรื่องได้ดีกว่าคนอื่น ทำให้มันกลมกลืนเหมือนอาหารสำรับหนึ่งที่ปรุงได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนคนอ่าน ไม่อาจแยกออกเลยว่า ตรงไหนเป็นเนื้อหา ตรงไหนเป็นเนื้อเรื่อง
7.ถอดหัวใจให้กับงาน : ประชาคมอธิบายว่า นักเขียนที่ดีจะต้องใส่ใจกับงานที่ตนเขียน หนังสือทุกเล่มของ นักเขียน เขาบอกว่ามีหยดเยิ้มของหัวใจของนักเขียนอยู่ทุกตัวอักษร
8.ขยันให้เป็นปกติ : ประชาคมเล่าว่า การที่จะเป็นนักเขียนมืออาชีพนั้น อย่าพูดถึงวินัย อย่าพูดถึงการบังคับตัวเอง แรงบันดาลใจสามารถสร้างได้ ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องอ้อนวอนขอพรพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นักเขียนทั้งหลาย แรงบันดาลใจสร้างได้ อารมณ์สร้างได้
“ผมก็ไม่เก่งหรอก แต่ในระยะ 10 กว่า ปีที่ผ่านมา ทำงานเขียนโดยไม่เอียงคิ้ว ความขยันหมั่นเพียรเป็นความปกติ เป็น กิจวัตรตื่นขึ้นมาทำงาน วางแผนวางโครงเรื่องอะไรไว้ทำได้ตามที่คิด ทำได้เท่าที่คิด เหมือนชาวสวนที่ตื่นเช้ามาก็ออกไปทำสวน เหมือนชาวนาที่รุ่งเช้าเอาควายออกไป ท้องทุ่ง ผมก็เหมือนกัน ตื่นเช้ามาก็เข้าสู่ โต๊ะทำงาน ไม่ใช่ความขยันหมั่นเพียรแต่ เป็นเรื่องวิถีชีวิตปกติ” ประชาคมเล่าด้วย รอยยิ้ม
อย่างไรก็ตาม ประชาคมทิ้งท้ายว่า การที่จะมีนักเขียนเกิดขึ้นนั้นจะต้องมีนักอ่านที่ดีด้วย เพราะก่อนที่จะเป็นนักเขียนที่ดี ก็ต้องเป็นนักอ่านที่ดีมาก่อน ถ้ามิได้เป็นนักอ่านที่ดี ไม่เคยเห็นงานของคนอื่น ไม่เคยคิดที่จะอ่าน ไม่เคยสร้างจินตนาการจากงานของคนอื่นๆ พอเวลามาถึงงานของตัวเองก็จะไม่สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้
“ผมคิดว่าไม่ว่าใครก็ตามที่อยากเป็น นักเขียน ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว ผมเชื่อว่าเขา ต้องได้รางวัลและก็มีความสุขอย่างแน่นอน” ประชาคมย้ำหนักแน่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น