ถ้า พูดถึงของขวัญที่ได้รับความนิยม หนึ่งในของที่คนส่วนใหญ่มักจะซื้อเพื่อเป็นของขวัญมอบให้กับคนที่รักในงาน เทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ วาเลนไทน์ รับปริญญา วันเด็ก ฯลฯ ก็จะรวมถึง “ตุ๊กตา” ที่มิใช่แค่ของเล่น เด็กเท่านั้น ซึ่ง “ตุ๊กตาผ้า” ก็เป็นหนึ่งในตุ๊กตายอดฮิต และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ...

ก่อน ที่จะมายึดอาชีพทำตุ๊กตานั้น สุชญาเล่าว่า เคยทำงานบริษัทผลิตตุ๊กตาส่งออก อยู่ฝ่ายการตลาด แต่ในช่วงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก บริษัทที่ทำอยู่ก็เริ่มให้คนงานออก และตนก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น หลังจากตกงานก็เริ่มหาช่องทางอาชีพทำ และก็ตกลงกับสามีว่าจะมาทำ “ตุ๊กตา” ขาย
“จากที่เคยอยู่ฝ่ายการตลาดของบริษัทเก่า ทำให้เห็นว่ายอดขายตุ๊กตามียอดจำหน่ายที่สูง บวกกับเป็นคนที่ชอบตุ๊กตาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้เป็นเรื่องง่ายในการที่จะตัดสินใจทำตุ๊กตาผ้าขาย”
การ ทำตุ๊กตาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ แต่ก็ไม่ยากถ้ามีความพยายาม พอเริ่มที่จะทำจริงจังก็เริ่มศึกษาวิธีการทำด้วยตัวเอง โดยหาซื้อตุ๊กตาผ้ามาแกะแยกชิ้นส่วนออกจนหมดทุกชิ้น เพื่อที่จะนำมาเป็นตัวอย่างในการทำ แรก ๆ ตุ๊กตาที่ทำออกมาจะนำไปขายตามงานวัดและตลาดนัด
ตุ๊กตาที่ผลิตขึ้นก็พอขายได้ แต่ยังไม่ค่อยมีมาตรฐาน อีกทั้งการบริหารจัดการต่าง ๆ ก็ยังไม่ดี สุชญาจึงเข้าไปอบรมในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถด้านบริหารจัดการธุรกิจในแต่ละด้าน ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน
หลัง จากที่ได้เข้าอบรมก็สามารถวางแผนในการจัดการธุรกิจได้ดีขึ้น รู้จักการจัดทำบัญชี ได้เรียนรู้เทคนิคด้านการตลาด เทคนิคการขาย จากนั้นก็เริ่มมาพัฒนากลุ่มผลิตตุ๊กตาให้มีมาตรฐานมากขึ้น จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์เริ่มเป็นที่ยอมรับจากลูกค้า ผลิตส่งให้กับบริษัทลิขสิทธิ์ถึง 70% และทางกลุ่มผลิตจำหน่ายเอง 30%
“ธุรกิจ ผลิตตุ๊กตาผ้า สินค้าที่ผลิตออกมาจะต้องเป็นที่ถูกใจลูกค้าจึงจะขายได้ เพราะฉะนั้นรูปแบบของตุ๊กตาจะต้องมีความโดดเด่น ที่สำคัญจะทำให้ธุรกิจไปรอดก็จะต้องเน้นในเรื่องคุณภาพสินค้า ตรงต่อเวลา และความซื่อสัตย์” สุชญากล่าว

แหล่งวัตถุดิบที่เป็นแหล่งใหญ่ที่สามารถไปหาซื้อได้อยู่ที่ย่านบางบอน...
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากออกแบบตุ๊กตา หรือหาต้นแบบตุ๊กตาที่ต้องการจะทำ หลังจากที่ได้แบบที่ต้องการก็ทำแพตเทิร์น ซึ่งตุ๊กตา 1 ตัว อาจมีแพตเทิร์น 25-40 ชิ้น จากนั้นก็นำแพตเทิร์นไปวางทาบบนผ้า วาดตามรอยจากนั้นก็ตัดตามรอยเส้น ซึ่งวิธีนี้เป็น วิธีที่ง่าย แต่งานอาจจะช้าหน่อย
ในส่วนของสุชญาจะใช้วิธีการนำแพตเทิร์นที่ ได้ไปวาดลงบนแผ่นกระเบื้องกันความร้อน จากนั้นก็จะตัดตามแบบ ใช้เส้นลวดกันความร้อนชนิดแบนติดตามขอบกระเบื้องกันความร้อนที่ตัดตาม แพตเทิร์น ล็อกติดเข้าด้วยกันโดยใช้ลวดกันความร้อนเส้นเล็กเป็นตัวรัด เชื่อมต่อสายไฟที่จะต้องไปเสียบเข้ากับหม้อแปลงไฟฟ้าปรับแรงดัน สุดท้ายต่อด้ามจับด้วยไม้ วิธีการใช้ก็แค่เสียบปลั๊กไฟเข้ากับหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้า รอให้ลวดเกิดความร้อน จากนั้นก็ทำการปั๊มลงบนผ้า
วิธีนี้เป็นวิธีที่รวดเร็วในการตัดผ้า แต่ก็ต้องใช้ทุนสูงหน่อย โดยหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้ามีราคาอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 บาท...
เมื่อ ได้ชิ้นส่วนตุ๊กตาทุกชิ้นครบ ก็ทำการเย็บแต่ละชิ้นให้เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็คือการยัดใย ก่อนยัดใยก็นำชิ้นส่วนที่แยกเย็บมาเย็บประกอบกันให้เรียบร้อย แล้วทำการยัดใย ยัดเสร็จก็ทำการตกแต่งภายนอกให้เรียบร้อย
การยัดใย ใส่ในตัวตุ๊กตานั้นสามารถยัดด้วยมือได้สำหรับผู้ที่ยังไม่มีเงินทุนที่จะ ซื้อเครื่องฉีดใย ส่วนเครื่องฉีดใยนั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ซึ่งคุณภาพตุ๊กตาที่ยัดใยด้วยเครื่องก็จะนิ่งกว่าการใช้มือ
จากนั้นก็ทำการเย็บปิดรูของตัวตุ๊กตาที่เป็นจุดยัดใย ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมจำหน่าย
ตุ๊กตา ของกลุ่มหัตถกรรมผลิตตุ๊กตาบ้านวังน้ำเขียว มีราคาขายตั้งแต่ 30-1,000 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาจำหน่าย ใครสนใจสั่งซื้อก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 08-1616-5967
จะสั่งไปจำหน่ายต่อเป็นอาชีพ หรือจะลองฝึกฝนทำขายเองก็สุดแท้แต่ !!.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์

ขอขอบคุณข้อมูล จาก
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น